This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 27 พฤศจิกายน 2563 08:59

พฤติกรรมความปลอดภัย กับการเสริมแรงบวก

BBS : Positive Reinforcement : พฤติกรรมความปลอดภัย กับการเสริมแรงบวก

ไม่มีใครชอบ จป.ที่ทำตัวเหมือนตำรวจ 

     ยกตัวอย่าง ในขณะที่เรากำลังขับรถ แล้วมีผู้ชายคนหนึ่ง ใส่ชุดสีกากี เดินมาโบกให้เราจอด เรารู้สึกดี หรือ รู้สึกหงุดหงิด  ? 

ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ น่าจะรู้สึกหงุดหงิดมากกว่า เพราะเรากำลังถูกจับผิด และ มากกว่านั้น ถ้าเราทำอะไรที่ผิดปกติ สิ่งที่ตามมาก็คือ “การถูกลงโทษ” นั่นคือ สิ่งที่หลายคนไม่ปรารถนา 

เคยมีบ้างมั้ย? ที่เราขับรถผ่านด่าน แล้วตำรวจโบกรถให้เราหยุด และมองเข้ามาในรถ เห็นเราคาดเข็มขัดนิรภัย แล้ว ชื่นชมเราว่า “ขอบคุณครับ ที่คาดเข็มขัดนิรภัย ขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัยครับ” ผมว่าน้อยคนนัก ที่ใครจะมีประสบการณ์แบบนี้ แต่หลายคน ก็อยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆ 

เรื่องน่าเศร้า ในวงการความปลอดภัยก็คล้ายๆกัน 

วันก่อน ผจก.คนหนึ่ง นั่งทานข้าวกับผม แล้วก็คุยโว โอ้อวดว่า พ่อของเขาเป็น จป.วิชาชีพ เวลาที่พ่อของเขา ลงไปเดินตรวจในโรงงาน ทุกคนคอหด ก้มหน้าก้มตาทำงาน อุปกรณ์ PPE  ที่ไม่ได้ใส่ ก็รีบใส่ทันที บ้างก็หันหลังกลับ เดินหนี แบบนี้เป็น Safety cop มากว่า  Safety manager 

พนักงานคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า จป.ที่บริษัทของเขา เป็นทหารเก่า เวลาเจอพนักงานที่ทำงานไม่ปลอดภัย ก็จะเดินเข้าไปตบ หรือ ทุบหลังเลยก็มี และแรงด้วย บ้างก็สั่งให้ ปั่นจิ้งหรีด หรือไม่ก็ วิดพื้น   

ซึ่งผมมีโอกาสได้ถามคนเหล่านั้น ที่ต้องหลบ ต้องหนี หรือ ที่ถูกลงโทษว่า รู้สึกอย่างไร? 

เขาบอกว่า เขาไม่ชอบ และ บางทีก็อยากจะชกมัน ให้คว่ำตรงนั้นไปเลย แต่ทำไม่ได้ เพราะต้องการทำงานที่นี่ต่อ ถ้าไม่มีงานทำ ก็อดตายกันทั้งครอบครัว 

นั่นหมายความว่า การขู่ การลงโทษ หรือ การทำให้กลัว ไม่ได้เป็นสิ่งที่ใครชอบเลย

 

 

     สุดท้าย พวกคนที่ชอบขู่ ชอบลงโทษผู้อื่น ก็นั่งกินข้าวคนเดียว หากมองในมุมของจิตวิทยานั้น คนที่ไม่ชอบกันจะไม่ยอมนั่งทานข้าวด้วยกันเด็ดขาด หรือ ถ้าจำเป็น ก็จะนั่งให้ไกลกันมากที่สุด 

งานที่ทำ มันก็ไม่ต่างจากหัวโขน วันหนึ่งหากเราเจ็บป่วย วันหนึ่งที่เราเกษียณไปแล้ว คำถามคือ เราจะมีเพื่อนมั้ย ตกลงการทำตัวเหมือนตำรวจ คุ้มมั้ย ?  

ทั้งๆที่เราเป็น จป. เราเรียนอะไรมาก็เยอะ  เราน่าจะทำอะไรได้ดีมากกว่า การขู่ การทำให้กลัว หรือ ลงโทษ พวกนี้คือสิ่งเร้า (stimulus )ในการทำให้เกิดพฤติกรรม แต่มันคือ เชิงลบ ไม่ได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ยั่งยืน 

หากอยากจะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยจริงๆ ก็ต้องนำหลักการของ  Behavior- Based Safety มาใช้ เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรม 

 

สกินเนอร์ ได้แบ่งแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมเป็น 2 ประเภท คือ

1. Response behavior

      โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้น เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เช่น เห็นป้าย Sale  คนส่วนใหญ่ก็จะเดินเข้าไปดูทันทีว่าขายอะไร หรือ เจอคำว่าแจกคูปองลดราคา บนจอสมาร์ทโฟน เราก็ต้องคลิกเข้าไปดูทันที สิ่งนี้เรียกว่า ใช้สิ่งเร้ามากระตุ้น ให้ร่างกายตอบสนอง  ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้แล้ว เราก็ต้องพึ่งพาสิ่งเร้าเหล่านี้ตลอดไป ถ้าไม่มีสิ่งเร้า เราก็ไม่ทำ คล้ายๆกับการให้รางวัล ถ้าทำงานด้วยความปลอดภัย แล้วให้ตลอด ให้บ่อยๆ  ต่อไปจะให้เขาทำอะไรๆก็ต้องให้รางวัล  ซึ่งนายจ้างก็ไม่ต้องการให้ พนักงานรู้สึกอยากทำ เพราะอยากได้รางวัล แต่อยากให้พนักงานอยากทำ เพราะอยากได้รับความปลอดภัย   บริษัทแห่งหนึ่งต้องการให้พนักงานส่ง Safety observation card  เดือนละ 1 ใบ ต่อคน โดยให้ใบละ 20 บาท แรกๆพนักงานก็ส่ง เพราะพนักงานเองอยากได้เงิน เงินเป็นสิ่งเร้า แต่พอนานๆเข้า เขาก็ไม่ส่ง เพราะเริ่มเบื่อ และ ชินกับสิ่งเร้าที่ได้รับสม่ำเสมอ  บริษัทก็ต้องกระตุ้นโดยการให้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเมื่อไรพนักงานจะรู้สึกว่า เขาทำความปลอดภัยเพื่อตนเอง เพราะตอนนี้ในสมองของเขาเห็นแค่ว่าส่ง Safety observation card  แล้วได้เงิน แต่ไม่เห็นว่า เขียน Safety observation แล้วส่ง ได้ความปลอดภัย

2. Operant behavior

       โดยพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น จากการวางเงื่อนไขเป็นตัวเสริมแรง (Reinforcement) โดยเน้นการสร้างพฤติกรรมจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ทำ โดยที่เราได้วางเงื่อนไขเป็นตัวเสริมกระบวนการใช้แรงเสริม หรือ Reinforcement แบ่งออกเป็น

 

2.1 Positive reinforcement

     คือ การใช้แรงเสริมเชิงบวก เช่น การชื่นชม การให้รางวัลทันที เมื่อเห็นพฤติกรรมที่ดี ที่ถูกต้อง เพื่อจูงใจให้เกิดพฤติกรรมนั้นๆซ้ำ 

เช่น พนักงานคนหนึ่งหยิบไม้ถูพื้น มาถูพื้นที่เปียก ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าของเขา เพราะมันคือหน้าที่ของแม่บ้าน ในฐานะที่เราเป็น จป. หรือ เพื่อนร่วมงาน เราควรจะทำอย่างไร? เฉยๆ หรือ ว่าเดินเข้าไปชื่นชม   

ถ้าเราเฉยๆ ครั้งหน้าเขาอาจจะไม่ช่วยถูพื้นแล้ว แต่ถ้าเราเข้าไปชื่นชม โอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมนี้ซ้ำ ย่อมเป็นไปได้มากกว่า และที่สำคัญ คือ ต้องรีบชื่นชมทันที 

แต่ถ้าพบว่าพฤติกรรมที่เขาทำนั้น ไม่ดี ไม่ปลอดภัย การเสริมแรงบวกก็ทำได้ โดยการไม่ตำหนิ แต่ให้กำลังใจ โดยสอบถามถึงสาเหตุว่า อะไรคือต้นเหตุของพฤติกรรม ? 

เช่น เขาไม่สวมแว่นตานิรภัย ก็ให้เราถามว่าติดปัญหาอะไร? อยากให้ผมช่วยอะไรมั้ยครับ? เขาตอบว่าใส่แล้วมันเกิดฝ้า เราก็แก้ปัญหาให้ทันที โดยหาแว่นที่ไม่เกิดฝ้ามาให้ พร้อมให้กวนอิมหนึ่งกระปุก ไว้ทารอบ ๆใบหน้า

 

 

2.2 Negative reinforcement

     คือ การใช้แรงเสริมทางลบ โดยเฉพาะการลงโทษ ในสมัยที่เราเป็นเด็ก หลายคนมักจะเจอกันมาไม่ใช่น้อย และที่เลวร้ายกว่านั้น พอโตขึ้นมาเรากลับนำมาใช้กับคนอื่นอีก

ทั้งที่เราเอง ก็เคยโดนกระทำแบบนี้มา เราไม่ชอบ แต่เรายังเอามาทำกับคนอื่นต่อ เช่น การลงโทษ ตวาด ตำหนิ ด่าทอ เหมือนที่ผมยกตัวอย่างไว้ข้างต้นที่ จป. ทำตัวเหมือนตำรวจ แบบนี้ นอกจากงานจะไม่ได้แล้ว   ใจก็ไม่ได้ด้วย

 

สรุป

การสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย สิ่งที่สำคัญมากที่ต้องทำ คือ การเสริมแรงบวก ส่วนการใช้สิ่งเร้า หรือ การใช้แรงเสริมทางลบ ก็สามารถใช้ได้ แต่อย่าใช้มากจนเกินไป เพราะผลเสียที่ได้ จะมากกว่าผลดี เอาแค่ทำให้มันดีพอ มันก็พอดี

การจะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ต้องนำเรื่องของ  BBS มาใช้ด้วย จึงจะเกิด  Cultural Change  หรือ วัฒนธรรมความปลอดภัย นั่นเอง

เวลาที่เราพูดถึงรางวัล คนส่วนใหญ่ ก็จะนึกถึงแต่ เงิน และ สิ่งของ ซึ่งสิ่งเรานี้ไม่ได้มีความยั่งยืนเลย เงินให้ไป เอาไปใช้ เดี๋ยวก็หมด สิ่งของให้ไป เอาไปเก็บ ก็เสื่อม เอาไปใช้ เดี๋ยวก็เสีย

แต่คำชื่นชม ผ่านไป10 ปี  20  ปี นึกถึงทีไร ก็สุขใจ

ดังนั้นสิ่งที่มองไม่เห็น กลับยั่งยืนกว่าสิ่งที่มองเห็น นี่คือ  Positive reinforcement  ลองนำใช้ดูครับ

 

บทความโดย

ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย

ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย

วิทยากร ที่ปรึกษา และ นักเขียน Best Seller

เข้าชม 17642 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:22