กิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign) เป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีความมุ่งมั่นในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่าอุบัติเหตุที่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับการทำงานสามารถป้องกันได้ โดยการลดสถิติการประสบอันตรายในสถานประกอบกิจการให้เป็นศูนย์ ผ่านการวางแผนและบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการ/หน่วยงาน ร่วมสมัครกิจกรรมรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี ๒๕๖๓ (Zero Accident Campaign 2020) โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนและยื่นเอกสารได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดหลักเกณฑ์การสมัคร เพื่อศึกษารายละเอียดและวิธีการสมัคร เพื่อความถูกต้องในการสมัคร
[ ดาวน์โหลดหลักเกณฑ์การสมัครประจำปี ๒๕๖๓ ]
[ ดาวน์โหลดการกรอกข้อมูลและการเตรียมเอกสาร ]
- เปิดให้ลงทะเบียนและยื่นเอกสารในระบบ วันที่ ๑ มกราคม - ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๓
- สถานประกอบกิจการที่เคยสมัครแล้ว สามารถใช้ Username และ password เดิมได้
เอกสารที่ต้องอัพโหลดเพิ่มเติมในระบบ
๑. ตารางบันทึกชั่วโมงการทำงาน (แบบ Zero ๑) (ดาวน์โหลดไฟล์ แบบ Zero ๑)
บันทึกชั่วโมงการทำงานตามช่วงเวลาที่จะขอรับการประกาศเกียรติคุณ กรณีสมัครต่อเนื่องให้บันทึกชั่วโมงการทำงานเฉพาะในส่วนที่เพิ่มเติมมาเท่านั้น โดยให้แยกชั่วโมงการทำงานปกติและชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาให้ชัดเจน สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างผู้รับเหมาหรือลูกจ้างผู้รับเหมาช่วงจะต้องแจงรายละเอียดชั่วโมงการทำงานเป็นรายนิติบุคคล โดยแยกชั่วโมงการทำงานปกติและชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาให้ชัดเจน หากสถานประกอบกิจการมีแบบฟอร์มหรือเอกสารการคำนวณที่ดี ละเอียด ถูกต้องและเหมาะสมกว่าสามารถนำมาใช้แทนแบบฟอร์ม Zero ๑ ได้
๒. หนังสือรับรองด้านความปลอดภัยและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้อง (แบบ Zero ๒) (ดาวน์โหลดไฟล์แบบ Zero ๒)
ให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทุกคน ลงลายมือชื่อรับรองให้ครบถ้วน
๓. หนังสือรับรองลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสาขาอื่นๆ (แบบ Zero ๓) (ดาวน์โหลดไฟล์แบบ Zero ๓)
ในกรณีที่สถานประกอบกิจการมีการแจ้งการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างในภาพรวมหรือในรหัสกิจการเดียวกันทั้งองค์กร เช่น สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาแจ้งรวมกัน หรือใช้รหัสกิจการเดียวกัน แต่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานนั้น ปฏิบัติงาน ณ สาขาอื่น ให้นายจ้างลงลายมือชื่อในแบบ Zero ๓ พร้อมแนบทะเบียนลูกจ้างมาประกอบด้วย
๔. แบบจัดทำโล่และใบประกาศ
(ให้ดาวน์โหลดไฟล์จากในระบบ ที่เมนู "ข้อมูลเบื้องต้น" --> "แถบที่ ๖" )
เพื่อเป็นการรับรองและยืนยันข้อมูลความถูกต้องของชื่อสำหรับจัดทำโล่ประกาศเกียรติคุณและใบประกาศ โดยให้ดาวน์โหลดไฟล์และปริ้นท์เพื่อลงนามรับรอง จากนั้นสแกนไฟล์เพื่อใช้ในการอัพโหลดในระบบ
๕. เอกสารรับรองจากสำนักงานประกันสังคม
๕.๑ สถานประกอบกิจการต้องมีหนังสือรับรองจากสำนักงานประกันสังคม ว่าไม่มีการประสบอันตรายจากการทำงานตามช่วงระยะเวลาที่ขอรับการประกาศเกียรติคุณ
๕.๒ กรณีมีการแจ้งการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างแต่ไม่ถึงขั้นหยุดงานหรือสูญเสียวันทำงาน ให้แสดงหลักฐาน วัน/เดือน/ปี ก่อนที่ลูกจ้างประสบอันตราย ๗ วัน และหลังวันที่เกิดการประสบอันตราย ๗ วัน รวมทั้งหลักฐานอื่นที่แสดงว่าไม่มีการสูญเสียวันทำงานประกอบด้วย
๕.๓ กรณีเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม ให้หน่วยงานรับรองตนเองและลงนามโดยผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยหรือสาขา
๕-๔ หากสถานประกอบกิจการหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีลูกจ้างผู้รับเหมา/ลูกจ้างผู้รับเหมาช่วง จะต้องมีหนังสือรับรองจากสำนักงานประกันสังคมทุกรายหรือทุกนิติบุคคลแนบเพิ่มเติมด้วย
๖. เอกสารอื่นๆ
สถานประกอบกิจการที่สมัคร จะต้องมีการบริหารจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญกับการลดสถิติอุบัติจากการทำงานให้เป็นศูนย์ โดยจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อใช้แนบ ดังต่อไปนี้
๖.๑ มีการกำหนดนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์เป็นลายลักษณ์อักษรและลงนามโดยนายจ้าง รวมทั้งมีการประกาศและแจ้งให้ลูกจ้างทุกระดับได้ทราบอย่างทั่วถึง
๖.๒ มีแผนและผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการประเมินอันตรายหรือการประเมินความเสี่ยง
๖.๓ มีแผนและผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยง ตามผลการประเมินอันตรายหรือการประเมินความเสี่ยง
๖.๔ มีแผนและผลการดำเนินงานการอบรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แก่ลูกจ้างทุกระดับ
๖.๕ มีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
๖.๖ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานถูกต้องตามกฎหมาย และแจ้งขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร ที่สถานประกอบกิจการหรือสาขาตั้งอยู่
๖.๗ มีการจัดทำกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอื่นๆ ที่ต้องจัดให้มีคือ กิจกรรม ๕ ส โดยที่อาจจะมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมKYT กิจกรรมการรณรงค์ป้ายเตือนอันตรายต่าง ๆ สัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการ เป็นต้น
๖.๘ มีการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานครอบคลุมถึงผู้รับเหมา/ผู้รับเหมาช่วง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
วิดีโอชี้แจงการสมัคร
กำหนดการรับสมัคร
ติดต่อสอบถาม
|
![]() |
|
กิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน ๓ ประการ คือ
๑. ผู้บริหารมีความมุ่งมั่น
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของลูกจ้าง มีความมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ให้การสนับสนุนและเป็นผู้นำในการริเริ่มดำเนินการเพื่อลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นศูนย์
๒. มีการบริหารจัดการ
สถานประกอบกิจการมีระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการธุรกิจโดยมีกิจกรรมหลักคือการประเมินอันตราย การควบคุมความเสี่ยง และการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง กำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้บริหาร หัวหน้างานและลูกจ้าง และบูรณาการกิจกรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เข้ากับการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการทุกขั้นตอน
๓. การมีส่วนร่วม
การเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือและความมุ่งมั่นของบุคลากรทุกระดับในองค์กร ในการดำเนินการเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายในสถานประกอบกิจการโดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมทั้ง การยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคลากร และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ระดับของการประกาศเกียรติคุณ
|
ระดับ Platinum สถานประกอบกิจการได้รับประกาศเกียรติคุณในระดับทองติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปี |
|
ระดับทอง สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป |
|
ระดับเงิน สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง ตั้งแต่ ๓,๐๐๐,๐๐๐ – ๙,๙๙๙,๙๙๙ ชั่วโมง |
|
ระดับทองแดง สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง ตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ – ๒,๙๙๙,๙๙๙ ชั่วโมง |
|
ระดับต้น สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง น้อยกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ ชั่วโมง |
การตรวจสอบสถานะการสมัครในระบบด้วยตนเอง
สถานประกอบกิจการเมื่อสมัครร่วมกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบิตเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ สามารถล็อคอินเพื่อตรวจสอบสถานะอนุมัติได้โดยการกดเลือกเมนู “ตรวจสอบสถานะ” ที่แถบด้านซ้ายมือ หน้าจอจะแสดง “สถานะอนุมัติ” ที่มุมซ้ายมือ ดังนี้
สถานะอนุมัติ : ยังไม่ได้ส่ง
หมายถึง สถานประกอบกิจการมีการบันทึกชั่วโมงการทำงานในระบบออนไลน์แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งข้อมูลเพื่อให้ สสปท. ตรวจสอบ โดยยังไม่มีการกดเลือกข้อความ “ส่ง” แล้ว
สถานะอนุมัติ : ปฏิเสธการส่งข้อมูล
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้ส่งข้อมูลในระบบออนไลน์เพื่อให้ สสปท. ตรวจสอบแล้ว แต่การบันทึกข้อมูลชั่วโมงการทำงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือส่งเอกสารไม่ครบถ้วน และ/หรือไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ข้อ ๖ ทั้งนี้ ได้มีการส่งคืนระบบเพื่อให้สถานประกอบกิจการดำเนินการแก้ไขหรือส่งเอกสารเรียบร้อยแล้ว
*****สถานประกอบกิจการยังไม่ควรส่งเอกสารฉบับจริงมา เนื่องจากอาจจะต้องมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขอีก*****
สถานะอนุมัติ : ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล หรือ ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้ส่งข้อมูลในระบบออนไลน์เพื่อให้ สสปท. ตรวจสอบแล้ว และอยู่ในระหว่างการรอให้เจ้าหน้าที่ สสปท. ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารประกอบการสมัครที่ส่งเข้ามาในระบบอีกครั้ง ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการสามารถตรวจสอบประวัติระดับและจำนวนชั่วโมงการทำงานสะสมที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณในปี ๒๕๕๘ หรือก่อนหน้านั้นได้ โดยกดเลือกข้อความ “หน้าหลัก”
*****สถานประกอบกิจการยังไม่ควรส่งเอกสารฉบับจริงมา เนื่องจากอาจจะต้องมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขอีก*****
สถานะอนุมัติ : อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล
หมายถึง สถานประกอบกิจการส่งข้อมูลและเอกสารในระบบออนไลน์ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดส่งเอกสารฉบับจริงตามรายการเอกสารในหลักเกณฑ์การสมัคร ข้อ ๗ มายัง สสปท.
สถานะอนุมัติ : ตรวจสอบแล้ว ครั้งที่ 1
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้จัดส่งเอกสารฉบับจริงมายัง สสปท. ถูกต้องและครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การสมัคร ข้อ ๗
สถานะอนุมัติ : อนุมัติแล้ว
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้รับการอนุมัติเบื้องต้น โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณตามกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี ๒๕๖๒ โดยสถานประกอบกิจการสามารถตรวจสอบระดับและจำนวนชั่วโมงการทำงานสะสมที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเบื้องต้นได้ โดยกดเลือกข้อความ “หน้าหลัก”
สถานประกอบกิจการใหม่ (ที่ยังไม่เคยสมัคร) สามารถนับชั่วโมงการทำงานสะสมย้อนหลังปี ๒๕๖๒ อย่างน้อยต้อง ๙ เดือนขึ้นไป โดยสามารถนับชั่วโมงสะสมย้อนหลังได้ไม่จำกัดเดือน/ปี (ชั่วโมงการทำงานที่ไม่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน) โดยชั่วโมงสะสมรวมทั้งหมด ให้นำไปเทียบเกณฑ์ระดับของประกาศเกียรติคุณที่จะได้รับ (ระดับต้น, ระดับทองแดง ,ระดับเงิน และระดับทอง) เพื่อสมัครให้ตรงตามระดับประกาศเกียรติคุณที่กำหนด หมายเหตุ : - หากไม่สามารถสมัคร หรือ Login ผ่าน (จะขึ้นหน้า Error 404) ให้แก้ปัญหาโดยการใช้อินเตอร์เน็ตจากทางอื่น เช่น แชร์อินเตอร์เน็ตจากมือถือ |