Print this page
วันพุธ, 11 กันยายน 2562 10:50

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานอย่างจริงจังและยั่งยืน

            ปัจจุบันปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงานและความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังมีความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้นถึงแม้กระทรวงแรงงานได้พยายามหามาตรการดำเนินการ เพื่อให้สถานประกอบกิจการดำเนินการลดการประสบอันตรายด้วยตนเอง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมาตลอด

           นอกจากการส่งเสริมและรณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยการผลักดันให้มีกฎหมายออกมาใช้บังคับจำนวนหลายฉบับ ซึ่งมี 2 ฉบับที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันและควบคุมอันตรายจากการทำงานถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนทุกระดับและคณะบุคคลโดยการพัฒนาบุคลากรแต่ละระดับให้ได้รับการอบรมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้รวมทั้งการอบรมหลักสูตรคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการตั้งแต่พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

            อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาความตั้งใจของภาครัฐที่ต้องการให้สถานประกอบกิจการได้ดำเนินการความปลอดภัยฯ ด้วยตนเองเป็นหลักโดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของจป. แต่ละระดับ และคปอ. ตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น ปรากฏว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเห็นคือ นายจ้างหรือผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นประธาน คปอ ขาดภาวะผู้นำ ด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยฯ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเลขานุการคปอ.ก็ขาดประสบการณ์ในการทำงานในเชิงรุก รวมทั้งขาดแนวทางการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยฯ อย่างเป็นระบบและรูปธรรม และขาดความร่วมมือในระบบทวิภาคี ในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้สถานประกอบกิจการที่ต้องดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศ จำเป็นต้องเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานต่างๆที่มีขึ้นตามกลุ่มเศรษฐกิจที่รวมตัวกันและมีการกำหนดมาตรฐานระบบขึ้นในหลายๆรูปแบบและมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ประเทศคู่ค้ากำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าดำเนินการเช่น ISO2015 ISO45001 SA8000 โดยข้อกำหนดส่วนหนึ่งของเกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้มีเรื่องของการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานภายในสถานประกอบกิจการและต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ายอมรับด้วย

            อนึ่ง กระทรวงแรงงานได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตราพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งกำหนดว่าในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้นำกฎกระทรวงที่ออกตามความในหมวด 8 แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาบังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ. 2549 ได้กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ (คปอ.) ตามมาตรา 23 และนายจ้างต้องจัดให้คปอ.ได้รับการอบรมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามมาตรา 28

             ทั้งนี้ คปอ ของสถานประกอบกิจการ มีองค์ประกอบเป็นทวิภาคี ประกอบด้วย นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร เป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชา และมีผู้แทนลูกจ้างที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ โดยอาจมี จป. ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือ จป. ระดับวิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่ง คปอ. ของสถานประกอบกิจการมีบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการดำเนินการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการ เพื่อการป้องกันการประสบอันตรายจากการทำงานและลดความสูญเสีย บทบาทหน้าที่หลักได้แก่ การพิจารณานโยบายและแผนงาน การรายงานเสนอแนะมาตรการการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆการพิจารณาข้อบังคับและคู่มือ การสำรวจความปลอดภัยและตรวจสอบสถิติการพิจารณาโครงการหรือแผนงานฝึกอบรมการวางระบบการรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย การประชุมและติดตามผลความคืบหน้าเรื่องต่างๆ การประเมินผลงานด้านความปลอดภัยฯ

            ดังนั้นหากนายจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังในการดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ ดังกล่าวข้างต้นของคปอ. นอกจากจะช่วยลดการประสบอันตรายและความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแล้วยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตอีกทางหนึ่ง เพราะการทำงานอย่างปลอดภัยนอกจากจะเป็นการป้องกันอุบัติเหตุในตัวแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์คือ

  • ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะลูกจ้างมีความรู้สึกปลอดภัยความหวาดกลัวหรือวิตกกังวลก็ลดลง จึงมีความมั่นใจและทำงานได้เต็มที่และรวดเร็วยิ่งขึ้น ผลผลิตรวมของสถานประกอบกิจการจึงเพิ่มขึ้นด้วย

  • ต้นทุนการผลิตลดลงเมื่ออุบัติเหตุและความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายสำหรับอุบัติเหตุ ลดน้อยลง ทำให้สถานประกอบกิจการประหยัดค่ารักษาพยาบาล ค่าเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนค่าซ่อมเครื่องจักรอุปกรณ์เป็นต้นซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเมื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต้นทุนการผลิตจึงลดลงได้

  • กำไรมากขึ้น เมื่อผลผลิตสูงขึ้นและต้นทุนการผลิต ต่ำลงแล้ว ดังกล่าว โอกาสที่สินค้าจะแข่งขันด้านราคาในท้องตลาดก็สูงขึ้นด้วยเป็นเหตุให้สถานประกอบกิจการได้กำไรมากขึ้น

  • สงวนทรัพยากรมนุษย์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทุกครั้งมักจะทำให้ลูกจ้างบาดเจ็บพิการทุพพลภาพหรือตายทำให้สูญเสียทรัพยากรที่สำคัญไปโดยเฉพาะเป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีความชำนาญ นอกจากนี้ความพิการหรือทุพพลภาพยังเป็นภาระของญาติพี่น้องหรือสังคมด้วยดังนั้นการทำให้สภาพการทำงานมีความปลอดภัยจึงเป็นการสงวนทรัพยากรมนุษย์

  • สร้างแรงจูงใจ ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและการทำงานเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามทฤษฎีการจูงใจของ มาสโลวส์ (maslow Motivation Theory) การจัดสภาพการทำงาน ให้ความปลอดภัยจึงเป็นเครื่องมือในการบริหารงานอย่างหนึ่งเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างมีความ อยากทำงานมากขึ้น

 

จุดเด่น 7 ประการของ คปอ.

  • ประธานคณะกรรมการ คือ นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร องค์ประกอบของคณะกรรมการ เป็นทวิภาคี มีผู้แทนนายจ้างระดับผู้บังคับบัญชา ได้รับการแต่งตั้ง และผู้แทนลูกจ้าง นายจ้างจัดให้มีการเลือกตั้งมีบทบาทและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดชัดเจน ตามมาตรา 25

  • มีการสำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยฯ ในสถานประกอบกิจการตนเองอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ตามมาตรา 25 (5)

  • มีการประชุม คปอ. อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ตามมาตรา 27

  • คณะกรรมการฯ ได้รับการอบรมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ตามมาตรา 28

  • นายจ้างต้องพิจารณา และดำเนินการตามมติหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ที่ปรานกรรมการเสนอโดยมิชักช้า ตามมาตรา 30

  • นายจ้างต้องสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ และ จป. ทั้งในหน้าที่ประจำและหน้าที่ในฐานะกรรมการ

  • นายจ้างปิดประกาศมติของที่ประชุมคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ไว้ในที่เปิดเผย เพื่อให้ลูกจ้างทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ประชุม

บทความโดย...นายวินัย  ลัฐิกาวิบูลย์

เข้าชม 20785 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพุธ, 11 กันยายน 2562 11:07