กิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign) สสปท.ได้รับการส่งมอบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อดำเนินการตามบทบาทหน้าที่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นไป ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีความมุ่งมั่นในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่าอุบัติเหตุที่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับการทำงานสามารถป้องกันได้
โดยการลดสถิติการประสบอันตรายในสถานประกอบกิจการให้เป็นศูนย์ ผ่านการวางแผนและบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี
[ หลักเกณฑ์การสมัครปี ๒๕๖๑ ] [ เข้าสู่ระบบสมัคร ] [ ขั้นตอนการสมัครในระบบ ]
ดาวน์โหลดเอกสารเพื่อแนบไฟล์ในระบบออนไลน์
ดาวน์โหลดแบบ Zero ๑-๔ เป็นไฟล์ word,excel
การรับสมัคร
ติดต่อสอบถาม
|
![]() |
|
ข่าวสารกิจกรรม
- Default
- Title
- Date
- Random
กิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน ๓ ประการ คือ
๑. ผู้บริหารมีความมุ่งมั่น
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของลูกจ้าง มีความมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ให้การสนับสนุนและเป็นผู้นำในการริเริ่มดำเนินการเพื่อลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นศูนย์
๒. มีการบริหารจัดการ
สถานประกอบกิจการมีระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการธุรกิจโดยมีกิจกรรมหลักคือการประเมินอันตราย การควบคุมความเสี่ยง และการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง กำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้บริหาร หัวหน้างานและลูกจ้าง และบูรณาการกิจกรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เข้ากับการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการทุกขั้นตอน
๓. การมีส่วนร่วม
การเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือและความมุ่งมั่นของบุคลากรทุกระดับในองค์กร ในการดำเนินการเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายในสถานประกอบกิจการโดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมทั้ง การยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคลากร และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับ การรณรงค์ ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เล็งเห็นถึงความสำคัญของหลักการพื้นฐาน ๓ ข้อ ดังกล่าวในการลดอัตราการประสบอันตรายในสถานประกอบกิจการให้เป็นศูนย์ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน ยังผลให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ดังนั้นกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign) จึงมุ่งเน้นให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการตามหลักการ ๓ ข้อ ดังนี้
- ผู้บริหารมีความมุ่งมั่นสถานประกอบกิจการต้องมีมีนโยบายด้านความปลอดภัยที่ระบุถึงการลดอัตราการประสบอันตรายให้เป็นศูนย์ที่ชัดเจน เพื่อเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดสถิติการประสบอันตรายให้เป็นศูนย์
- มีการบริหารจัดการสถานประกอบกิจการมีจัดการระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยมุ่งเน้นให้ มีการตระหนักถึงอันตรายจากการทำงาน มีการประเมินอันตราย ประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ มีการนำกิจกรรมด้านความปลอดภัยไปใช้ในขั้นตอนการทำงานทุกขั้นตอน
- การมีส่วนร่วมสถานประกอบกิจการจัดให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการลดอันตรายการประสบอันตรายของสถานประกอบกิจการให้เป็นศูนย์ โดยจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการ การจัดกิจกรรม ๕ ส กิจกรรม KYT กิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการ รวมทั้ง การอบรมให้ความรู้กับพนักงานทุกระดับตามความเหมาะสมกับลักษณะงานและความเสี่ยงในการทำงาน
หลักเกณฑ์การขอรับการประกาศเกียรติคุณ
- สถานประกอบกิจการทุกประเภทสามารถสมัครขอรับการประกาศเกียรติคุณได้
- สถานประกอบกิจการต้องมีนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่กำหนดไว้ในนโยบายอย่างชัดเจนในการลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์และมีการประกาศนโยบายให้พนักงานได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้ง การกำหนดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงานทุกระดับ ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
- สถานประกอบกิจการต้องมีการจัดให้มีการประเมินอันตรายหรือการประเมินความเสี่ยงในสถานประกอบกิจการ แผนการควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยง รวมทั้งมีการทบทวนแผนอย่างต่อเนื่อง โดยสถานประกอบกิจการจะต้องมีการจัดทำแผนการประเมินอันตรายหรือความเสี่ยง มีการดำเนินการตามแผน และรายงานสรุปผลการดำเนินการ
- สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีการอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แก่ผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงานทุกระดับตามหน้าที่ ความรับผิดชอบ และลักษณะงานและมีหลักฐานการอบรม
- สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และรายงานสรุปผลการดำเนินการ
ระดับของประกาศเกียรติคุณ
ระดับต้น
สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีระยะเวลาสะสมชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมา ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๑๒ เดือน
ชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมา น้อยกว่า๑,๐๐๐,๐๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป
ระดับทองแดง
สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีระยะเวลาสะสมชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมาต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า ๙ เดือน
ชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมา ตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ – ๒,๙๙๙,๙๙๙ ชั่วโมง
ระดับเงิน
สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีระยะเวลาสะสมชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๙ เดือน
ชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมา ตั้งแต่ ๓,๐๐๐,๐๐๐ – ๙,๙๙๙,๙๙๙ ชั่วโมง
ระดับทอง
สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงาน มีระยะเวลาสะสมชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๙ เดือน
ชั่วโมงการทำงานสะสมของลูกจ้าง/ลูกจ้างผู้รับเหมา ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป
ระดับ Platinum สถานประกอบกิจการได้รับประกาศเกียรติคุณในระดับทองติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปี
การเลื่อนระดับ
สถานประกอบกิจการที่ดำเนินการ Zero Accident Campaign อย่างต่อเนื่องสามารถขอเลื่อนระดับการประกาศเกียรติคุณได้ ๒ กรณี คือ
๑. สะสมชั่วโมงได้ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
ระดับทองแดง จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ –๒,๙๙๙,๙๙๙ ชั่วโมง
ระดับเงิน จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ – ๙,๙๙๙,๙๙๙ ชั่วโมง
ระดับทอง จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป
ระดับแพลทินัม ได้รับการประกาศเกียรติคุณในระดับทองติดต่อกัน ๕ ปี
๒. สะสมชั่วโมงต่อเนื่องโดยไม่สูญเสียวันทำงาน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา ๕ ปี
โดยนับจากปีที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ ๔ ปี และนับรวมปีปัจจุบัน (รวมเป็น ๕ ปี) จะได้รับการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น ๑ ระดับ
การเข้าร่วมโครงการ
สถานประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign)จะต้องมีการดำเนินการดังนี้
๑. นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
สถานประกอบกิจการจะต้องมีนโยบายด้านความปลอดภัยฯ ที่ให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ โดยกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรในนโยบายอย่างชัดเจน
วิธีดำเนินการ
กรณีสถานประกอบกิจการยังไม่มีนโยบายด้านความปลอดภัยฯ ให้สถานประกอบกิจการจัดทำนโยบายความปลอดภัยฯ ที่ต้องกำหนดว่าจะมีการดำเนินการลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ รวมทั้ง กำหนดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงานทุกระดับปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด โดยผู้บริหารสูงสุดต้องเป็นผู้ลงนามประกาศนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรและสถานประกอบกิจการจะต้องมีการขับเคลื่อนตามนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม
กรณีสถานประกอบกิจการมีนโยบายด้านความปลอดภัยฯ แล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดเรื่องการลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ไว้ในนโยบาย ให้สถานประกอบกิจการปรับปรุงนโยบายด้านความปลอดภัยฯ โดยต้องกำหนดว่าจะมีการดำเนินการลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ รวมทั้ง กำหนดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงานทุกระดับปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด โดยผู้บริหารสูงสุดต้องเป็นผู้ลงนามประกาศนโยบายใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรและสถานประกอบกิจการจะต้องมีการขับเคลื่อนตามนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม
เอกสารที่ต้องส่ง
- นโยบายความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการ
๒. มีการดำเนินกิจกรรมการประเมินอันตรายในสถานประกอบกิจการ
สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีการประเมินอันตรายในสถานประกอบกิจการ พร้อมทั้งแผนควบคุมอันตราย โดยกำหนดให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งกิจกรรมการอบรม/การให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานและรายงานผลการดำเนินการเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
วิธีดำเนินการ
สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีการประเมินอันตรายหรือการประเมินความเสี่ยง ประกอบด้วย
- มีแผนการประเมินอันตรายหรือความเสี่ยง
- มีการประเมินอันตรายหรือความเสี่ยง โดยพนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
- มีแผนการควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยง
- มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานแก่พนักงานทุกคน รวมทั้งพนักงานที่เปลี่ยนงาน และพนักงานเข้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับลักษณะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน และการป้องกัน
- มีการรายงานผลการดำเนินการให้กับคณะกรรมการความปลอดภัยฯ หรือผู้บริหารของสถานประกอบกิจการทราบเป็นประจำ
เอกสารที่ต้องส่ง
- แผนการประเมินอันตรายหรือความเสี่ยง
- แผนการควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยง
- รายงานผลการประเมินอันตรายประจำเดือน
- รายงานผลการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานทุกระดับ
๓. มีการจัดกิจกรรมการรณรงค์ส่งเสริมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
สถานประกอบกิจการจะต้องมีกิจกรรมที่ให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการลดอุบัติเหตุในการทำงาน เช่น กิจกรรม ๕ ส.เพื่อความปลอดภัย กิจกรรม KYT การจัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ฯลฯ โดยมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน มีรายงานสรุปผลการดำเนินการประกอบด้วย แผนงาน/โครงการ ลักษณะการดำเนินการ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ภาพประกอบการดำเนินกิจกรรม ที่นำเสนอต่อคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ในสถานประกอบกิจการ หรือเสนอต่อผู้บริหารของสถานประกอบกิจการ
วิธีดำเนินการ
สถานประกอบกิจการจะต้องมีการจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ โดยมุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ เป็นประจำทุกปี ต้องมีการดำเนินกิจกรรม ๕ ส ในสถานประกอบกิจการ
เอกสารที่ต้องส่ง
- แผนการดำเนินการ
- คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ๕ ส, คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานฯ
- ผลการตรวจประเมิน ๕ ส
- รายงานสรุปผลการดำเนินงาน กิจกรรม ๕ ส
ตรวจสอบสถานะการสมัคร
สถานประกอบกิจการเมื่อสมัครร่วมกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบิตเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ สามารถล็อคอินเพื่อตรวจสอบสถานะอนุมัติได้โดยการกดเลือกเมนู “ตรวจสอบสถานะ” ที่แถบด้านซ้ายมือ หน้าจอจะแสดง “สถานะอนุมัติ” ที่มุมซ้ายมือ ดังนี้
๒. สถานะอนุมัติ : ยังไม่ได้ส่ง
หมายถึง สถานประกอบกิจการมีการบันทึกชั่วโมงการทำงานในระบบออนไลน์แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งข้อมูลเพื่อให้ สสปท. ตรวจสอบ โดยยังไม่มีการกดเลือกข้อความ “ส่ง” แล้ว
๓. สถานะอนุมัติ : ปฏิเสธการส่งข้อมูล
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้ส่งข้อมูลในระบบออนไลน์เพื่อให้ สสปท. ตรวจสอบแล้ว แต่การบันทึกข้อมูลชั่วโมงการทำงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือส่งเอกสารไม่ครบถ้วน และ/หรือไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ข้อ ๖ ทั้งนี้ ได้มีการส่งคืนระบบเพื่อให้สถานประกอบกิจการดำเนินการแก้ไขหรือส่งเอกสารเรียบร้อยแล้ว
*****สถานประกอบกิจการยังไม่ควรส่งเอกสารฉบับจริงมา เนื่องจากอาจจะต้องมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขอีก*****
๔. สถานะอนุมัติ : ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล หรือ ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้ส่งข้อมูลในระบบออนไลน์เพื่อให้ สสปท. ตรวจสอบแล้ว และอยู่ในระหว่างการรอให้เจ้าหน้าที่ สสปท. ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารประกอบการสมัครที่ส่งเข้ามาในระบบอีกครั้ง ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการสามารถตรวจสอบประวัติระดับและจำนวนชั่วโมงการทำงานสะสมที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณในปี ๒๕๕๘ หรือก่อนหน้านั้นได้ โดยกดเลือกข้อความ “หน้าหลัก”
*****สถานประกอบกิจการยังไม่ควรส่งเอกสารฉบับจริงมา เนื่องจากอาจจะต้องมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขอีก*****
๕. สถานะอนุมัติ : อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล
หมายถึง สถานประกอบกิจการส่งข้อมูลและเอกสารในระบบออนไลน์ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดส่งเอกสารฉบับจริงตามรายการเอกสารในหลักเกณฑ์การสมัคร ข้อ ๗ มายัง สสปท.
๖. สถานะอนุมัติ : ตรวจสอบแล้ว ครั้งที่ 1
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้จัดส่งเอกสารฉบับจริงมายัง สสปท. ถูกต้องและครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การสมัคร ข้อ ๗
๗. สถานะอนุมัติ : อนุมัติแล้ว
หมายถึง สถานประกอบกิจการได้รับการอนุมัติเบื้องต้น โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณตามโครงการรณรงค์ลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี ๒๕๖๑ โดยสถานประกอบกิจการสามารถตรวจสอบระดับและจำนวนชั่วโมงการทำงานสะสมที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเบื้องต้นได้ โดยกดเลือกข้อความ “หน้าหลัก”
สถานประกอบกิจการใหม่ (ที่ยังไม่เคยสมัคร) สามารถนับชั่วโมงการทำงานสะสมย้อนหลังปี ๒๕๖๑ อย่างน้อยต้อง ๙ เดือนขึ้นไป โดยสามารถนับชั่วโมงสะสมย้อนหลังได้ไม่จำกัดเดือน/ปี (ชั่วโมงการทำงานที่ไม่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน) โดยชั่วโมงสะสมรวมทั้งหมด ให้นำไปเทียบเกณฑ์ระดับของประกาศเกียรติคุณที่จะได้รับ (ระดับต้น, ระดับทองแดง ,ระดับเงิน และระดับทอง) เพื่อสมัครให้ตรงตามระดับประกาศเกียรติคุณที่กำหนด หมายเหตุ : - หากไม่สามารถสมัคร หรือ Login ผ่าน (จะขึ้นหน้า Error 404) ให้แก้ปัญหาโดยการใช้อินเตอร์เน็ตจากทางอื่น เช่น แชร์อินเตอร์เน็ตจากมือถือ |