รมว. แรงงาน ย้ำ นายจ้างลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการ เพราะลูกจ้างติดโควิด-19 ไม่ได้

     รมว.แรงงาน สั่งการกสร. ทำความเข้าใจกับนายจ้าง กรณีนายจ้างลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการหักหรือลดค่าจ้าง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

     นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) พบว่ามีนายจ้างหลายรายที่ออกข้อกำหนดลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยการหักค่าจ้าง ลดค่าจ้าง หรือลดสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ไม่จ่ายโบนัสหรือเงินอื่น ๆ จากกรณีดังกล่าวนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยและกำชับให้มีการคุ้มครองดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง โดยกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำความเข้าใจกับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ ให้ทราบว่า แม้นายจ้างจะมีอำนาจออกประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ลูกจ้างปฏิบัติได้ก็ตาม แต่นายจ้างไม่สามารถลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยอ้างว่าลูกจ้างฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของนายจ้างด้วยวิธีการหักหรือลดค่าจ้างของลูกจ้างได้เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 76 (1) – (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541หากนายจ้างหักหรือลดค่าจ้างถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 76 วรรคหนึ่ง และถือว่านายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 76 และมาตรา 70 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 144 วรรคหนึ่ง คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับทั้งนี้ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้สอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในส่วนที่ถูกหักหรือที่ยังไม่ได้จ่ายให้ถูกต้องให้แก่ลูกจ้างได้
     นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ ได้จัดสวัสดิการนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนด เช่น โบนัส ฯลฯ ซึ่งการได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนด หรือนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันแล้วแต่กรณี หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสวัสดิการดังกล่าวโดยอ้างเหตุที่ลูกจ้างป่วยเพราะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติมในภายหลังย่อมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างเช่นเดียวกัน หากนายจ้างปรับหรือลดสวัสดิการ โดยไม่ชอบหรือนอกเหนือจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการกระทบต่อสิทธิของลูกจ้าง ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522

ภาพและข่าว : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน