This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
phitsanoo

phitsanoo

วันจันทร์, 30 ตุลาคม 2566 11:09

Mindset ด้านความปลอดภัยในการทำงาน


ชื่อหนังสือ
งานวิจัยการสำรวจปัจจัยด้านความปลอดภัยในการทำงานของผู้สูงอายุในยุคดิจิทัล

ปีที่พิมพ์ : ปี พ.ศ. 2566

จัดทำโดย : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

        การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นที่จะสำรวจปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ และพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานของผู้สูงอายุ ผู้วิจัยได้ทำการทบทวนวรรณกรรมเพื่อสร้างแบบสอบถามที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อใช้ในการสำรวจประชากรสูงอายุที่ยังประกอบอาชีพทั้งในและนอกระบบจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยการใช้แบบสอบถามที่มีการวัดความเที่ยง และความน่าเชื่อถือ ผลที่ได้จะรายงานในรูปแบบสถิติเชิงพรรณนา และนำผลไปพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงในผู้สูงอายุ


ชื่อหนังสือ
งานวิจัยการศึกษามวลอ้างอิงสำหรับการพิจารณาขีดจำกัดน้ำหนักยกที่แนะนำ ให้ทำงานได้ด้วยแรงกายของคนหนึ่งคนในกลุ่มคนงานผู้เยาว์

ปีที่พิมพ์ : ปี พ.ศ. 2566

จัดทำโดย : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

        งานยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกายเป็นสาเหตุหลักของการเกิดความล้าและการบาดเจ็บหลังส่วนล่างจากการทำงาน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามวลอ้างอิงสำหรับการพิจารณาขีดจำกัดน้ำหนักยกที่แนะนำให้ทำงานได้และการรับรู้ความหนักเหนื่อยด้วยแรงกายของคนหนึ่งคนในกลุ่มคนงานผู้เยาว์ด้วยวิธีจิตฟิสิกส์ ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างเพศชาย 23 คน เพศหญิง 27 คน ในการยก 5 ความถี่ในแนวระนาบ (ความถี่ที่ 5 10 15 30 และ 60 วินาทีต่อครั้งโดยใช้เทคนิคการยกของ NIOSH ผลการศึกษาพบว่าน้ำหนักสูงสุดที่ยอมรับได้จากการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของ จำแนกตามความถี่ 5 10 15 30 และ 60 วินาทีต่อครั้ง มีค่าเท่ากับ 1.50 2.22 3.00 4.50 และ 5.45 กิโลกรัม ตามลำดับ ระดับความรู้สึกปวดเมื่อยล้าจากการยกย้ายของของอาสาสมัคร พบว่าในการยกความถี่ที่ 5 วินาทีต่อครั้ง อาสาสมัครเพศชายและเพศหญิงมีความเหนื่อยล้าสูงสุด มีค่าเฉลี่ย 5.48 และ 4.63 ตามลำดับ มวลอ้างอิงที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อแนะนำสำหรับการทำงานยกอย่างปลอดภัย

วันพุธ, 25 ตุลาคม 2566 13:32

SAFETY in Mind


ชื่อหนังสือ
:  แนวปฏิบัติการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร (Guidelines for Managing Occupational Safety and Health of Food Delivery  Motorcycle) (สสปท. 3-6-07-01-00-2566)

ชื่อผู้แต่ง : คณะทำงานจัดทำแนวปฏิบัติการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร

ปีที่พิมพ์ : ปี พ.ศ. 2566

จัดทำโดย : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

ISBN (E-Book) : 978-616-8026-33-5

         การพัฒนาที่รวดเร็วของข้อมูลที่เชื่อมโยงกันจากเทคโนโลยี ทำให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจ (Business Model) ในรูปแบบของแพลตฟอร์ม (Platform)  ซึ่งเป็นตัวกลางทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างลูกค้าไปยังผู้ประกอบการ รวบรวมร้านอาหารไว้ด้วยกัน และให้บริการส่งอาหารแก่ผู้บริโภคผ่านแอปพลิเคชัน เช่น  โรบินฮู้ด (Robinhood) ไลน์แมน (Line Man)  แกร็ปฟู๊ด (Grab Food) และ ฟู้ดแพนด้า (Food Panda) เป็นต้น อีกทั้งพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนส่วนใหญ่นิยมสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันและใช้บริการส่งอาหาร (Delivery) เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการความรวดเร็วและความสะดวกสบาย ทำให้ธุรกิจส่งอาหารได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายจึงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เห็นได้จากข้อมูลตลาดบริการส่งอาหารในช่วงปี 2557-2565 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมูลค่าจาก 42,000 ล้านบาท ไปเป็น 99,000 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2565) จากข้อมูลดังกล่าว ธุรกิจส่งอาหารด้วยรถจักรยานยนต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันการขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหารมีความเสี่ยงและอันตรายในการประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานที่แข่งกับเวลา ทำให้ต้องใช้ความเร็วในการขับขี่ หากมีการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ขับขี่ที่ดี ความเสี่ยงในการประสบอุบัติเหตุก็สามารถลดลงตามไปด้วย

         ดังนั้น สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจส่งอาหารที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร จึงจัดทำแนวปฏิบัติการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร (Guidelines for Managing Occupational Safety and Health of Food Delivery Motorcycle)  เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงานให้เกิดความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในการขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร และเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม หรือจัดทำเป็นนโยบายด้านความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร


ชื่อหนังสือ
: คู่มือการประเมินความเสี่ยงและปรับปรุงท่าทางปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์  (Manual for Ergonomic Risk Assessment and Improvement of Computer Work Posture)

ชื่อผู้แต่ง : คณะทำงานจัดทำคู่มือการประเมินความเสี่ยงและปรับปรุงท่าทางปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์

ปีที่พิมพ์ : ปี พ.ศ. 2566

จัดทำโดย : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

ISBN (E-Book) : 978-616-8026-35-9

        มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ของท่าทางการปฏิบัติงานในลักษณะสถิต (สสปท. 1-4-05-02-00-2564) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้สถานประกอบกิจการทราบข้อกำหนดต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการประเมินความเสี่ยง และมีความรู้เกี่ยวกับท่าทางปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม เพื่อสามารถดำเนินการประเมินความเสี่ยงได้อย่างถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ และนำผลการประเมินไปปรับปรุงระบบงานและท่าทางปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานให้เหมาะสมได้ การปฏิบัติงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสมและอย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติที่ระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูก (Musculoskeletal Disorders; MSDs) ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สถานประกอบกิจการจำเป็นต้องนำหลักการด้านการยศาสตร์ไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงท่าทางปฏิบัติงาน โดยต้องพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบงาน ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงาน งานที่ปฏิบัติ สภาพแวดล้อมในบริเวณทำงาน และอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งต้องประเมินท่าทางปฏิบัติงานและความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานด้วย ซึ่งผลจากการประเมินความเสี่ยงของท่าทางปฏิบัติงานนั้นจะช่วยให้ทราบสาเหตุของปัญหาและสามารถเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งช่วยเอื้ออำนวยให้คุณภาพชีวิตการทำงานของผู้ปฏิบัติงานดีขึ้น สามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสะดวกสบาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

        ในสถานประกอบกิจการทุกแห่ง ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานเป็นจำนวนมากใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์หลักในการทำงาน โดยที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่นั่งปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และระยะเวลาสะสมในการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ยาวนานหลายชั่วโมงต่อวัน ถ้าสถานีงานคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สภาพแวดล้อมในบริเวณทำงาน และพฤติกรรมในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานมีความไม่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานนั่งทำงานคอมพิวเตอร์ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติที่ระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกได้

        สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) จึงได้จัดทำคู่มือการประเมินความเสี่ยงและปรับปรุงท่าทางปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์ขึ้น โดยอ้างอิงถึงข้อกำหนดต่าง ๆ และวิธีการประเมินความเสี่ยงที่ระบุในมาตรฐานฯ ฉบับดังกล่าว

 


ชื่อหนังสือ
: คู่มือการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต  (T-OSH Manual on Process Safety Management)

ชื่อผู้แต่ง : คณะทำงานจัดทำคู่มือการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต

ปีที่พิมพ์ : ปี พ.ศ. 2565

ครั้งที่พิมพ์ : ครั้งที่ 1

ISBN (E-Book) : 978-616-8026-30-4

        สถานประกอบกิจการที่มีกระบวนการผลิตและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย ก๊าซไวไฟ และของเหลวไวไฟมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติภัยร้ายแรงในระดับที่แตกต่างกัน อุบัติภัยร้ายแรงจากกระบวนการผลิตซึ่งได้แก่ การระเบิด เพลิงไหม้ และการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายที่มีผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน มีสาเหตุพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ที่มีการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย ก๊าซไวไฟและของเหลวไวไฟ จากกระบวนการผลิต การจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวและมาตรการลดผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์นั้น จะช่วยให้กิจกรรมของกระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการมีความปลอดภัยและเชื่อมั่นได้  สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ได้จัดทำคู่มือการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Standard for Process Safety Management) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการความปลอดภัยที่เป็นระบบเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดการจัดทำและพัฒนามาตรการในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยให้กิจกรรมของกระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการมีความปลอดภัยและเชื่อมั่นได้ การจัดทำคู่มือฯ ฉบับนี้ ใช้สาระสำคัญของ Center for Chemical Process Safety (CCPS),American Institute of Engineering (2010), Guidelines for Risk-Based Process Safety เป็นหลัก