This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111

 

การขับเคลื่อนให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ สสปท. ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างส่วนร่วมประชารัฐ ส่งเสริมงานวิจัย และวิชาการ มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

          เพื่อเป็นการพัฒนาภาคธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี สสปท. ได้นำแนวความคิดการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืน (Sustainable Development) มาประยุกต์ใช้ โดยจะสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกิจการภาคเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก และสนับสนุนการนำระบบบริหารงานด้าน   ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ

          ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีนี้ จะมุ่งผลสัมฤทธิ์ในอุตสาหกรรมที่มีอุบัติการณ์สูง และอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐ ในแผน Thailand 4.0 เช่น อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมถึงการทำงานในมิติอื่น ๆ เช่น แรงงานสูงอายุ และแรงงานต่างด้าว โดยจะทำงานแบบบูรณาการร่วมกับกิจการภาคเอกชนขนาดใหญ่ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และสมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานระบบบริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นสากล

          การสร้างความร่วมมือนี้ สถานประกอบกิจการขนาดใหญ่จะเชิญชวนและสนับสนุนสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นสายโซ่การผลิต (Supply Chain) เพื่อเข้าร่วมโครงการและเพื่อขอรับการตรวจประเมิน ตามมาตรฐานระบบบริหารความปลอดภัยฯ ของสสปท. ด้วยความสมัครใจ และส่งพนักงานเข้ารับการอบรม และรับคำปรึกษาจากผู้ตรวจประเมินของ สสปท. เพื่อการยกระดับมาตรฐานที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผ่านการประเมิน จะได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสสปท. ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงและความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนจากสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ และสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

          สสปท. จำเป็นต้องพัฒนาองค์กรให้เป็นหน่วยงานสำคัญหลักในการสนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัย
และการพัฒนาสถิติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้ได้ผลงานวิชาการ งานวิจัย และสถิติ ที่ก่อประโยชน์ในวงกว้าง ตลอดจนนำมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณา ปรับปรุง กฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด หรือขั้นตอนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้และทักษะเฉพาะด้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ติดอาวุธทางปัญญาพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัย ตอบสนองอุตสาหกรรม Thailand 4.0

          สสปท. จะร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในกระทรวงแรงงาน เพื่อผลิตและพัฒนานักศึกษาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน บุคลากรด้านความปลอดภัยฯ และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับบริหาร ระดับหัวหน้างาน ระดับเทคนิค และระดับวิชาชีพ ให้มีสมรรถนะในการเป็นบุคลากรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับปัญหา และความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

          โดยจะมีการพัฒนาหลักสูตรการสอน และการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการปฏิบัติในพื้นที่ ควบคู่กับภาคทฤษฎีและประเมินสัมฤทธิผลของผู้รับการสอน และ/หรือการฝึกอบรม รวมทั้งสถาบันเอกชนที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมให้มีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายบุคลากรเฉพาะทางที่จำเป็น เช่น นักพิษวิทยา นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม  แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ วิศวกรรมความปลอดภัย สาขาต่าง ๆ เพื่อเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในเชิงลึก

          นอกจากนี้ จะมีการผลิตสื่อหรือชุดการเรียนรู้ ที่มีนวัตกรรมทันสมัยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานสามารถเรียนรู้และดาวน์โหลดเพื่อการใช้ประโยชน์ในสถานประกอบกิจการ และเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่าง สสปท. กับสถานประกอบกิจการ และยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความทันสมัยเข้าถึงง่าย และเป็นไปตามนโยบายของรัฐ Thailand 4.0

          สสปท. จะสนับสนุนการลงทุนทางด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ เครื่องมือและอุปกรณ์ด้านไอที และการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน ผู้ผลิตนวัตกรรมใหม่ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ตามแนวทางการดำเนินงานแบบ Lean Start Up ซึ่งจะมุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรม และการทำสถิติ เพื่อให้การออกแบบและการผลิตนวัตกรรมใหม่ เช่น โมบายแอปพลิเคชั่นผ่านมือถือ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้งาน

          อีกทั้งจะพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  (Learning Organization) ที่มีความทันสมัย เพื่อเป็นสถานที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนของประชาชน นักเรียน และนักศึกษาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเป็นสถานที่ฝึกอบรม โดยมีห้องปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย บนระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เครือข่ายและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาเรียนรู้เครื่องมือและอุปกรณ์สาธิต ด้านการยศาสตร์ ด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ความปลอดภัยในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และฐานการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับหลักสูตรการฝึกอบรม โดยนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน สามารถทดลอง และฝึกปฏิบัติได้จริง นอกเหนือจากตำรา ภายในศูนย์ฝึกอบรมจะจัดทำห้องสมุดเพื่อรวบรวมข้อมูล งานวิจัย งานวิชาการ ตำรา เอกสารข้อมูลความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงให้ข้อมูลสถานประกอบกิจการที่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมคุณภาพการให้บริการ พัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัย

         เพื่อสนับสนุนองค์กรเครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยคัดเลือกองค์กรเครือข่าย เช่น ชมรมความปลอดภัยในการทำงานในส่วนภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งแล้วส่งเสริมให้มีการรวมตัวของสมาชิก
และดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน

          สสปท. จะร่วมมือกับเครือข่ายความปลอดภัยในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนให้ดำเนินกิจกรรมบริการด้าน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น จัดฝึกอบรม จัดกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรม  จัดนิทรรศการความปลอดภัย ทั้งนี้ คุณภาพการให้บริการ จะอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ด้วยราคายุติธรรม     โดยไม่มุ่งหวังการค้าทำกำไร แต่จะส่งเสริมการใช้กลไกทางธุรกิจในการรักษาสมดุล เพื่อควบคุมมาตรฐาน การให้บริการที่มีคุณภาพ และมีราคาการให้บริการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือก โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กในส่วนภูมิภาค

          การพัฒนาเครือข่ายในส่วนภูมิภาค สสปท. จะจัดตั้งศูนย์บริการในทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยในแต่ละศูนย์จะมีนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานของ สสปท. ทำหน้าที่บริหารเครือข่าย และให้บริการร่วมกับสถานประกอบกิจการในแต่ละจังหวัด

          ผลจากการรวมตัวของสมาชิก ในองค์กรเครือข่ายด้านความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้บริการ   โดยสมาชิกเครือข่าย การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องภายในกลุ่มของสมาชิก และการจัดตั้งศูนย์บริการภูมิภาค จะทำให้การนำนโยบายและการให้บริการลงสู่ภูมิภาค ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐ รวมถึงส่งผลที่ดีในเชิงป้องกันทำให้อุบัติเหตุและโรคจากการทำงานลดลงทั่วทั้งประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับทัศนคติ พัฒนาพฤติกรรม สร้างแรงงานปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี

          สสปท. ตระหนักว่า การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงาน และประชาชนอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเปลี่ยนทัศนคติ และพัฒนาพฤติกรรมของเยาวชน คนทำงานและประชาชน ให้เห็นความสำคัญของการป้องกันอันตรายที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน ด้วยการจัดกิจกรรมและการพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารอย่างแพร่หลาย

          ในฐานะที่ สสปท. เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงแรงงาน ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กับแรงงานทั่วประเทศ จึงมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยสำหรับนักเรียนและนักศึกษา การจัดงานความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผู้ใช้แรงงาน การจัดงานวิชาการความปลอดภัยในส่วนภูมิภาค สำหรับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับวิชาชีพ และการจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ สำหรับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และประชาชนทั่วไป เป็นต้น

          การสร้างระบบการประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารองค์กรใหม่ เน้นการสร้าง พัฒนา และการสื่อสารองค์กรไปยังกลุ่มเครือข่ายพันธมิตร (Branding) ภาคเอกชน ภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน โดยจัดทำเอกสารทางวิชาการเผยแพร่เครือข่ายภายในประเทศ จัดทำเอกสารทางวิชาการในระดับอาเซียนการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ สสปท. บริการทางวิชาการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในรูปแบบของความทันสมัย (Brandmodernization) และประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อต่าง ๆ ทางวิทยุ และโทรทัศน์ (Social Network) สร้างเว็บไซต์ (Website) ประกวดการแข่งขันงานวิชาการงานวิจัยในระดับสากล และพัฒนาระบบการบริการวิชาการเชิงรุก โดยการนำเสนองานวิชาการ งานวิจัย งานส่งเสริมพัฒนา งานนวัตกรรม ระบบมาตรฐาน ส่งเสริม สนับสนุนแบรนด์ทางวิชาการ สร้างทีมที่ปรึกษา เพื่อไปนำเสนอการให้บริการของ สสปท. ส่งเสริม สนับสนุนมาตรฐานทางวิชาการ พัฒนารูปแบบการเข้าถึงการให้บริการของ สสปท. สร้างระบบติดตามประเมินผลความพึงพอใจพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยยึดผู้รับบริการ (Stakeholder) เป็นศูนย์กลาง

          สสปท. จะจัดทำสื่อสร้างสรรค์ ส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ พัฒนาสื่ออะนิเมชั่น พัฒนาแอพพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย และสื่อเผยแพร่ผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ สู่เยาวชน แรงงาน และประชาชนทั่วไป อย่างแพร่หลาย

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างระบบงานและการจัดการภายในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สสปท.

          การจัดตั้งและพัฒนา สสปท. สู่องค์การมหาชนแห่งแรก ของกระทรวงแรงงาน ที่มีความเข็มแข็ง และ     มีธรรมาภิบาลที่ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาบุคลากร ทั้งจากข้าราชการและพนักงานราชการเดิม ที่ตัดโอนมาจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่และลูกจ้างที่ สรรหา และบรรจุเข้ามาใหม่ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และมีจริยธรรมอันดี

          โดยจะมุ่งเน้นการนำเอาเกณฑ์การบริหารทรัพยากรบุคคล ตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) มาใช้เป็นแนวทางในการสร้างระบบการจัดการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจรเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ทั้ง 4 ด้าน คือ (1) ด้าน Human Resource Management : HRM ที่เน้นการสรรหา คัดเลือกบุคลากรคุณภาพสูง สร้างระบบหน้าที่ ความรับผิดชอบพร้อมจัดวางกำลังคนที่สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรให้มี
ความสมบูรณ์ตามโครงสร้างและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา สร้างระบบการติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทุกระดับ รวมถึงสร้างระบบสวัสดิการและค่าตอบแทนที่สูงกว่าระบบราชการ เพื่อจูงใจในการดึงผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ และประสบการณ์สูง และรักษาบุคลากรคุณภาพที่มีอยู่เดิม เพื่อการพัฒนาองค์กร ให้เป็นที่พึ่งพาด้านการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย ของประชาชนร่วมกัน (2) ด้าน Human Resource Development : HRD เน้นการพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามสาขากำหนดขององค์กร และพัฒนาบุคลากรให้มีความสมบูรณ์สมรรถนะสากล (เทคโนโลยีสารสนเทศ ภาษาอังกฤษ การจัดการสมัยใหม่ และวัฒนธรรมสากล) พัฒนาระบบ Talent Management and Success Plan วางแผนสืบทอดตำแหน่ง ผู้มีความสามารถเพื่อมีตัวแทนในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนา Global Conceptand re-Thinking แก่ผู้บริหารระดับสูง (3) ด้าน Human Resource Happiness : HRH เน้นการสร้างบรรยากาศองค์กรตามเกณฑ์องค์กรแห่งความสุข และสถานที่ทำงานแห่งความสุขการสร้างสวัสดิการ ประโยชน์เกื้อกูลที่สูงกว่าสวัสดิการภาคราชการ (4) ด้าน Human Resource Engagement : HRE เน้นการให้ความสำคัญกับการปรับค่านิยมร่วมบุคลากรเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่เข้มแข็ง เสริมสร้างวิธีการคิด มุมมองในการทำงาน และใช้ชีวิตอย่างสมดุลระหว่างงานกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความรัก ความผูกพันผ่านกิจกรรมการเสริมสร้างความสัมพันธ์ จัดทำคำรับรองขององค์กรและบุคลากรรายบุคคลทุกคนในการสร้างนิสัยและผลงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Individual Performance Agreement)

          สำหรับระบบบัญชี การเงิน และพัสดุ จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการโดยใช้หลักธรรมาภิบาล พร้อมสร้างระบบควบคุม ตรวจสอบภายใน และการจัดการความเสี่ยงที่เข้มแข็ง จัดให้มีการตรวจสอบและรับรองการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงภายในองค์กร โดยบุคคลที่ 3 พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงิน การเป็นองค์กรที่พึ่งตนเองได้สูง รวมถึงเตรียมองค์กรสู่องค์กรดิจิตอล ใช้ระบบเว็บไซต์ (Website) ภาษาเพื่อการสื่อสารองค์กร สู่สากล ปรับอาคารสถานที่ มีระบบ SMART Office มีระบบ e-Admin e-Services e-Training การเชื่อมโยงเว็บไซต์ (Website) กับภาคีด้าน OSH ทั้งในและต่างประเทศ