แร่ใยหิน (Asbestos) คืออะไร?
แร่ใยหินเป็นกลุ่มของแร่อนินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีองค์ประกอบหลักคือ ไฮดรัสซิลิเกต มีลักษณะเป็นเส้นใย มีคุณสมบัติแข็งแรง เหนียว มีความยืดหยุ่นสูง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำ ทนทานต่อเชื้อจุลินทรีย์ การกัดกร่อนของสารเคมี และการทำลายของแมลง
แร่ใยหิน (Asbestos) แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม
1.กลุ่มแอมฟิโบล (Amphibole) มี 5 ชนิด คือ ครอซิโดไลท์ (Crocidolite) อะโมไซท์ (Amosite) ทรีโมไลท์ (Tremolite) แอนโทฟิลไลท์ (Anthophyllite) และแอคทิโนไลท์ (Actinolite)
2.กลุ่มเซอร์แพนไทน์ (Serpentine) มี 1 ชนิด คือ ไครโซไทล์ (Chrysotile)
แร่ใยหินที่เป็นวัตถุอันตราย ทำให้เกิดโรค
- ไครโซไทล์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คือวัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับใบอนุญาต
- กลุ่มแอมฟิโบล จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
แร่ใยหินที่ใช้ในประเทศไทย
แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ (Chrysotile) หรือแอสเบสตอสสีขาว ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ได้
อันตรายจากแร่ใยหิน
เป็นสารก่อมะเร็ง และโรคเกี่ยวกับระบบหายใจในมนุษย์ และไม่มียารักษาโดยตรง
ช่องทางการรับสัมผัสแร่ใยหิน
- จมูก
- ปาก
- การสัมผัส
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคจากแร่ใยหิน
1. ปริมาณแร่ใยหินที่เข้าสู่ปอด
2. ความคงทนของเส้นใยเมื่ออยู่ในปอด
3. ขนาดของเส้นใย
- เส้นใยที่มีความยาวมากกว่า 5 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 3 ไมครอน และมีความทนทาน จะมีอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากเส้นใยจะสะสมและคงอยู่ในเนื้อเยื่อปอด
-
เส้นใยที่มีความยาวกว่า 200 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 3 ไมครอนจะไม่ไม่สามารถเข้าสู่ถุงลมปอดได้มักจะสะสมอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน และถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยขับออกมากับเมือกเป็นเสมหะ
- เส้นใยที่มีความยาวน้อยกว่า 5 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า 2 ไมครอน จะถูกกลไกของร่างกายกำจัดได้
โรคที่มีสาเหตุจากแร่ใยหิน
1. โรคมะเร็งปอด กล่องเสียงและรังไข่ เป็นโรคที่เกิดกับผู้ที่ทำงานที่มีการสัมผัสกับแร่ใยหินในรูปแบบต่าง ๆ มีระยะเวลาในการก่อโรคประมาณ 20 -30 ปี และยังพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
2. โรคเมโสเธลิโอมา เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหิน มีระยะเวลาก่อโรคประมาณ 35 - 40 ปี
3. โรคแอสเบสโตสิสหรือโรคปอดใยหิน เป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่มีการสัมผัสกับแร่ใยหินเท่านั้น โดยเส้นใยจากแร่ใยหินจะทำลายเนื้อเยื่อปอดทำให้เป็นแผล มีระยะเวลาในการก่อโรคประมาณ 15 - 35 ปี หรืออาจเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่ปี หากสัมผัสแร่ใยหินในปริมาณมากและเป็นประจำ
กลุ่มเสี่ยง
- คนงานในโรงงานที่ใช้แร่ใยหิน
- กลุ่มผู้บริโภค เริ่มต้นการนำวัสดุไปใช้หรือรื้อถอนและกำจัดทิ้ง
- คนงานในเหมือง
การป้องกัน
- ด้านสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหิน หรือช่างก่อสร้างที่มีโอกาสสัมผัสแร่ใยหินโดยตรง ต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกันการสัมผัสแร่ใยหินอย่างเข้มงวด มีการตรวจสุขภาพทุกปีและมีการตรวจสุขภาพปอด
- ด้านสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ประชาชนทั่วไปที่จะสร้างบ้าน หรือจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่อาจใช้วัสดุ แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน
ขั้นตอนการรื้อถอนอาคารที่มีวัสดุแร่ใยหินประกอบ
ขั้นตอนเตรียมการ
- สำรวจและระบุวัสดุที่มีแร่ใยหิน ระบุประเภทว่าฟุ้งกระจายง่ายหรือฟุ้งกระจายยาก
- วางแผนการรื้อถอน ต้องระบุหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน ซึ่งคนงานรื้อถอนต้องผ่านการอบรมวิธีการรื้อถอนที่ถูกต้องและมีความรู้เรื่องอันตรายจากแร่ใยหิน
- ต้องมีการเก็บตัวอย่างอากาศพื้นที่ก่อน ระหว่าง และหลังการรื้อถอน เพื่อให้ทราบปริมาณเส้นใยหินที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ
ขั้นตอนรื้อถอน
- ด้านคนงานต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
- ต้องมีอุปกรณ์ฉีดพ่นน้ำเป็นฝอย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของแร่ใยหิน
- ต้องมีแผ่นพลาสติกและถุงขยะพลาสติกชนิดเหนียวทนทานพิเศษที่กักเก็บฝุ่นได้ สำหรับห่อหุ้มกระเบื้องที่จะรื้อออก และขยะแร่ใยหินอื่น ๆ
- ต้องมีเครื่องดูดฝุ่นที่ติดตั้งถุงกรองชนิดประสิทธิภาพกรองสูง หรืออุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดแบบเปียก
- กั้นบริเวณรื้อถอน เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง
- ระหว่างการรื้อถอนต้องระมัดระวังไม่ให้กระเบื้องแตกหัก และพรมน้ำที่หัวตะปูหรือหมุดก่อนรื้อถอน เพื่อลดการฟุ้งกระจาย
วัสดุทดแทนแร่ใยหิน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มเซรามิก สำหรับใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทนความร้อนสูง ประกอบด้วย เส้นใยแก้วสำหรับการถักทอ, เส้นใยซิลิกา, เส้นใยคาร์บอน, เส้นใยแก้ว, เส้นใยเซรามิก, เส้นใยยิปซั่ม, โวลลาสโตไนต์ , แอตตาพัลไจต์ และซีพิโอไลต์
- กลุ่มโพลีเมอร์ สำหรับใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความแข็งแรง ประกอบด้วย โพลิอะคลิโลไนไทรล์ , เทอร์มอล สเต็บบิไลท์เต็ด โพลีอะไคล์โลนิไทรล์ , ไวนิล , โพลีโพรพิลีน , โพลีเตตระฟลูโอโรไทลีน
- กลุ่มวัสดุธรรมชาติ สำหรับใช้ในกลุ่มวัสดุเชื่อมต่อ เบรก คลัตซ์ และเคมีภัณฑ์ ประกอบด้วย ขนสัตว์, ฝ้าย, เส้นใยเซลลูโลส, ป่าน/ปอ กัญชง, ไมก้า , ทัลก์ , เบนโทไนท์และไดอะโทไมต์
วัสดุทดแทนแร่ใยหินที่ประเทศไทยใช้
- เส้นใยยิปซั่ม ใช้แทนแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กลุ่มเคมีภัณฑ์และฉนวนความร้อน
- เส้นใยเซลลูโลส ใช้แทนแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กลุ่มผ้าเบรก คลัตช์ และวัสดุก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่
- วัสดุในกลุ่มโพลีเมอร์ทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตได้เองจากปิโตรเคมี นำมาใช้แทนแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กลุ่มวัสดุก่อสร้างและผ้าเบรก คลัตช์