This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 07 มกราคม 2565 16:23

รู้หรือไม่ ความล้าทางกายกับความล้าสายตามีความสัมพันธ์กัน

         เมื่อเทียบปัจจุบันกับอดีตแล้วระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด  องค์กรต่างๆมีการขยายตัวและก่อตั้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีการใช้เครื่องจักรมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการทำงาน คนทำงานมีโอกาสสัมผัสปัจจัยเสี่ยงที่มีผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปัจจัยอื่นของการทำงานในอาชีพและการประกอบกิจกรรมในทุกมิติ ทั้งผู้ปฏิบัติ สถานที่ทำงาน การออกแบบงาน หรือที่เรียกว่า การศึกษาด้านการยศาสตร์ (Ergonomic)  โดยคำว่า ergo หมายถึง งาน และ nomos หมายถึง กฏทางวิทยาศาสตร์ของการทำงาน เมื่อนำมารวมกันจึงเป็นการศึกษา ค้นคว้าเป็นวิธีการปรับปรุงงานให้เหมาะสมกับพนักงาน ปรับท่าทางการทำงานให้ถูกต้อง ไม่ใช่การปรับสรีระร่างกายพนักงาน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน สถานีงานให้เหมาะสม เพื่อการทำงานที่มีความสุขทั้งสุขภาพกายและใจ  ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานซึ่งส่งผลดีต่อตัวพนักงานเอง ดีต่อองค์กรในด้านคุณภาพงาน และลดการสูญเสียค่ารักษาพยาบาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามจากหลายหน่วยงาน หรือตัวผู้ปฏิบัติงานเอง จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพด้านการยศาสตร์เป็นวงกว้าง ซึ่งความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal disorders; MSDs) ก็เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่พบสูงสุด ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ไม่เป็นไปตามหลักที่ถูกต้องด้านการยศาสตร์ แม้ส่วนใหญ่จะไม่อันตรายเฉียบพลัน แต่ในระยะยาวหากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ ถึงขึ้นต้องลาออกเพราะไม่สามารถปฏิบัติงานต่อได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อเข้ารุมเร้าพนักงานเกือบทุกสาขาอาชีพ จากที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2554-2558 มีอาการ MSDs เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆถึงร้อยละ 83.09 เมื่อเทียบกับประชากรที่เจ็บป่วยทั้งหมด และพบในอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ ตามการบันทึกจากรหัส ICD10 (International Classification of Diseases and Related Health Problem 10thRevision) (สำนักงานประกันสังคม, 2558) กระทรวงแรงงานได้ให้รหัสโรคในกลุ่มที่จัดอยู่ในความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อจากการประกอบอาชีพสำหรับบันทึกข้อมูล ICD-10 ไว้ดังนี้

 

 

  • M 54 ปวดหลัง (Dorsalgia)

  • M 54.5 ปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain)

  • M 65 เยื่อหุ้มข้อและปลอกเอ็นอักเสบ (Synovitis and tenosynovitis)

  • M 65.3 นิ้วล็อค นิ้วไกปืน นิ้วลั่น

  • M 65.4 ปลอกเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ บริเวณปลายยื่นกระดูกเรเดียส

  • M 70 ความผิดปกติของเนื้อเยื่ออ่อน เนื่องจากการใช้งานมากเกินและแรง กดทับ (Soft tissue disorders related to use, overuse and pressure)

  • M 70.0 ปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่มือ และข้อมืออักเสบเรื้อรัง

  • M 70.2 ถุงลดเสียดสีปลายศอกอักเสบ

  • M 4 ถุงลดเสียดสีหน้าสะบ้าเข่าอักเสบ

  • M 77 เอ็นยึดกระดูกอักเสบแบบอื่นๆ (Other enthesopathies)

  • M 77.0 รอยนูนเหนือปุ่มกระดูกต้น แขนอักเสบด้านใน

  • M 77.1 รอยนูนเหนือปุ่มกระดูกต้น แขนอักเสบด้านนอก

(ที่มา: คู่มือการลงรหัส ICD-10 สำหรับโรคจากการประกอบอาชีพ โดย วิวัฒน์ เอกบรูณะวัฒน์) 

         ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อจากการทำงานมักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยด้านลักษณะการทำงาน เช่น การใช้ร่างกายทำงานในลักษณะใดลักษณะหนึ่งซ้ำๆ ถี่ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน การทำงานเกินกำลัง การทำงานเกินเวลาที่ร่างกายจะสามารถฟื้นสภาพให้เป็นปกติได้ การผลักการดันการดึงหรือยกสิ่งของหนักเกินกำลังในท่าทางที่ไม่เหมาะสม การเคลื่อนไหวร่างกายในท่าก้มหลังหรือบิดตัวผิดลักษณะ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงทางจิตวิทยาสังคมคุกคาม ความเครียด ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและสถานที่ทำงานไม่เหมาะสม เช่น สถานที่ปฏิบัติงานคับแคบทำให้เคลื่อนไหวร่างกายส่วนที่ต้องใช้งานไม่สะดวกหรือไม่ถนัดเป็นเวลานาน ทำงานในสภาวะที่ร่างกายได้รับความสั่นสะเทือน อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป แสงสว่างไม่เหมาะสม เป็นต้น ที่กล่าวมาล้วนส่งผลต่อคนทำงาน ไม่เพียงแค่การเกิดความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ หรือความเมื่อยล้าทางกายเท่านั้น จากเทคโนโลยีล้ำสมัยปัจจุบันทำให้มีลักษณะงานที่ต้องใช้อุปกรณ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก เช่น คอมพิวเตอร์สมาร์ทโฟน หน้าจอแสดงผลต่างๆ รวมถึงลักษณะงานที่จ้องวัตถุเป็นเวลานาน  เช่น งานตรวจสอบ/ควบคุมคุณภาพ (Quality Control:QC) ซึ่งต้องใช้สายตาเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความล้าของสายตา (Visual fatigue) หรือกลุ่มอาการจอภาพคอมพิวเตอร์ (Computer vision syndrome: CVS) ที่จะแสดงออกหลังจากที่ร่างกายมีความรู้สึกเหนื่อยและเพลียเกิดขึ้นกับสายตา  ทำให้กล้ามเนื้อตา (Ciliary muscle) มีการเกร็งโดยการยืดหรือหดตัว ความล้าสายตาจึงเป็นปัญหาที่มีขนาดค่อนข้างกว้างในผู้ที่ทำงาน ส่งผลต่อคุณภาพงาน คุณภาพการผลิตที่ลดลง ความผิดพลาดมากขึ้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้

ปกติแล้วค่าเฉลี่ยระยะทางที่ใกล้ที่สุดที่สามารถมองเห็นชัดเจนตามอายุ คือ

อายุ (ปี)

ระยะมองเห็นชัดใกล้ที่สุด (มม.)

16

80

32

120

44

250

50

500

60

1000

ที่มา: Kruger and Muller-Limmroth, 1979

         ประเภทของแสงบาดตาหรือแสงจ้า(glare) ที่มีผลทำให้เกิดความล้าสายตา ได้แก่ แสงบาดตาโดยตรง คือ แสงจ้ามากจนไม่สามารถมองวัตถุได้หรือมองด้วยความลำบาก และแสงบาดตาทางอ้อม เกิดจากการสะท้อนพื้นผิวบริเวณที่ทำงานจากแหล่งกำเนิดแสงอื่นๆ ทำให้เกิดความล้าของสายตา 

          จากการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมามีผู้ศึกษาเรื่องความล้าสายตาในพนักงานผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์มีผลการตรวจสมรรถภาพทางสายตาไม่เหมาะสมกับงาน หรือมีอาการล้าของสายตาเมื่อเทียบกับผู้ที่ผลการตรวจวัดความล้าสายตาปกติ เป็น 2.667 เท่า (จรูญ ชิดนายี, วิรงค์รอง จารุชาต, และศศิธร ชิดนายี, 2556)

         ไม่เพียงเรื่องของแสงเท่านั้นที่มีผลต่อความล้าสายตา  แต่ยังมีภาระทางกาย (Physical Workload) หรือ การทำงานที่ใช้แรงกาย และปริมาณความล้าทางจิตใจก็มีผลกระทบต่อความสามารถด้านการมองเห็นและความล้าสายตา ส่งผลให้การตัดสินใจ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น จะเห็นได้ว่าความล้าสายตามีความสัมพันธ์กันกับการยศาสตร์ในด้านของความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อด้วย

         จากการศึกษาของ จุรีภรณ์ แก้วจันดา ได้ทำการศึกษาในพนักงานกระบวนการผลิตเยื้อและกระดาษ ด้วย 2 วิธีการ คือ 1.แบบสอบถาม 2.ใช้เครื่องวัดความล้าสายตา Flicker Fusion Test เป็นเครื่องมือ “Digital Flicker Value Tester” (DF-1 Type) โดยอาศัยหลักการของ Critical Fusion Frequency (CFF) มีหน่วยเป็นรอบต่อวินาที (Cycle Per Second หรือ Hertz) เป็นการวัดที่อาศัยการทำงานร่วมกันของตาและสมอง มีไดโอดซึ่งเป็นตัวควบคุมความถี่ของคลื่นไฟฟ้าทำหน้าที่ลดสัญญาณความถี่ลงทีละน้อยๆ จนความถี่ของกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 40 จนถึง 50 Hz. ก็จะทำให้เกิดการกระพริบของหลอดไฟหรือเป็นจุดสัญญาณสีส้ม ในจอภาพความถี่ของแถบกระพริบนี้จะตรงกับความถี่ของคลื่นสมองส่วนที่รับรู้การเห็นซึ่งจะรับภาพการกระพริบเป็นแถบสีเดียวกัน ถ้าผู้ถูกทดสอบปกติจะสามารถตอบสนองได้เร็วแต่ถ้าผู้ถูกทดสอบเกิดความเมื่อยล้าก็จะทำให้เกิดการตอบสนองนั้นช้าโดยที่ค่าปกติของ CFF จะอยู่ในช่วง 30-40 รอบต่อนาทีหรือ “Cycle Per Second (CPS)” (ชมพูศักดิ์ พูลเกษ, 2535)

 

การแปลผลค่า CFF

ค่า CFF ที่วัดได้ (CPS)

การแปลผล

หน่วยวัด

30 < CFF < 40

ปกติ

0

40 < CFF < 45

มีความเมื่อยล้าของสายตาเล็กน้อย

1

45 <CFF < 50

มีความเมื่อยล้าของสายตาปานกลาง

2

CFF > 50 ขึ้นไป

มีความเมื่อยล้าของสายตามาก

3

(ชมพูศักดิ์ พูลเกษ, 2535)

 

 

         จากการใช้แบบสอบถามพนักงานมีความรู้สึกล้าสายตา ร้อยละ 33.94 แต่เมื่อใช้เครื่องวัดความล้าสายตาพบว่า ส่วนใหญ่มีความล้าสายตา ร้อยละ 60.51 เป็นไปได้ว่าผลจากการตอบแบบสอบถามมีความล้าสายตาน้อยกว่าใช้เครื่องนั้นอาจเพราะพนักงานมีความเคยชินกับงานที่ทำ หรือการใช้แบบสอบถามเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าพนักงานไม่มีความล้าสายตา จึงเป็นสิ่งดีที่ใช้เครื่องวัดความล้าสายตาตรวจสอบร่วมด้วย และเมื่อนำผลจากเครื่องวัดความล้าสายตามาหาความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อโดยการวิเคราะห์พหุถดถอยลอจิสติกโมเดลสุดท้าย ผลการวิเคราะห์ พบว่า พนักงานที่มีความล้าสายตาจากเครื่องวัดความล้าสายตา Flicker Fusion Test มีความสัมพันธ์และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ มากกว่าพนักงานที่ไม่มีความล้าสายตา  4.51 เท่า หรือกล่าวได้ง่ายๆว่าความล้าสายตามีความสัมพันธ์และเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความล้าทายกายได้

         ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องตระหนักเห็นความสำคัญการทำงานตามหลักการยศาสตร์ที่ถูกต้อง ทั้งท่าทางการทำงาน สภาพแวดล้อม สถานีงาน เช่น ระยะเวลาการทำงาน แสงสว่างที่เหมาะสม รวมถึงเฝ้าระวังสมรรถภาพการมองเห็นของพนักงาน โดยเพิ่มเรื่องการวัดความล้าสายตาในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งไม่ใช่วัดความผิดปกติของสายตา หรืออย่างน้อยมีการใช้แบบสอบถามและให้ความรู้เรื่องความล้าสายตาและความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ แม้จะไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้แต่เป็นความห่วงใยที่พนักงานทุกคนควรได้รับจากองค์กร เมื่อพนักงานเป็นสุข องค์กรย่อมประสบผลสำเร็จในด้านคุณภาพงานอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

บทความโดย

จุรีภรณ์  แก้วจันดา

อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

 

เอกสารอ้างอิง

            กลุ่มรายงานมาตรฐาน. (2560). โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม. ค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2562, จาก https://hdcservice.moph.go.th/hdc/main/index_pk.php

            จุรีภรณ์ แก้วจันดา และ สุนิสา ชายเกลี้ยง. (2562). การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพด้านความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของพนักงานที่ปฏิบัติงานในกระบวนการผลิตเยื่อและกระดาษ. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น., 12(1).

            พงษ์จันทร์ อยู่แพทย์. (2561). การยศาสตร์และสรีรวิทยาของการทำงาน. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต

             สุนิสา ชายเกลี้ยง. (2557). สรีรวิทยาการทำงานและการยศาสตร์. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 

 

เข้าชม 5134 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันศุกร์, 07 มกราคม 2565 16:36

บทความที่ได้รับความนิยม