This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 11 กรกฎาคม 2565 09:01

ปลอด กัญ ไว้ก่อน

          ตามที่มีประกาศปลดล็อกกัญชาและกัญชง ที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ออกจากรายฃื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพตนเอง และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้มีการปลูกพืชดังกล่าวได้ในครัวเรือนและเฃิงพาณิชย์กันอย่างทั่วไป และใช้ในทางที่ผิดจากวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น ใช้ในทางสันทนาการ ผลิตสินค้า ประกอบอาหาร และเครื่องดื่ม ทำให้ปัจจุบันมีข่าวกันแพร่หลายเกี่ยวกับผลกระทบของกัญฃาและกัญชงต่อผู้ใช้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนายจ้างจำเป็นต้องตระหนัก เนื่องจากลูกจ้างอาจมีการใช้กัญชาและกัญชง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุในงาน และทำให้นายจ้างต้องให้การรักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ที่ต้องจ่ายเพื่อรักษา

          ในปี พ.ศ. 2564 สภาความปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐเมริกา (National Safety Council: NSC) พบว่ามีลูกจ้างประมาณหนึ่งในสามตรวจพบการใช้กัญชาในขณะทำงาน ขณะที่ National Institute on Drug Abuse ของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการใช้กัญชากับผลที่ไม่พึงประสงค์ในที่ทำงาน เช่น ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น  โดยการในหมู่พนักงานไปรษณีย์ พบว่าพนักงานที่ทดสอบกัญชาในปัสสาวะเป็นบวก มีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 55% บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 85% และการขาดงานมากขึ้น 75% เมื่อเทียบกับผู้ที่ทดสอบการใช้กัญชาเป็นลบ นอกจากนี้ยังมีการรายงานอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2000-2018 พบว่ามีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับกัญชาเพิ่มจาก 9% เป็น 21.5%

  มารู้จัก กัญชา และกัญชง กันก่อน  

        กัญชา (Marijuana) และกัญชง (Hemp) มีต้นกำเนิดจากพืชชนิดเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในทางรูปร่างและสารเคมีที่อยู่ในแต่ละชนิด พืชทั้งสองชนิดนี้มีสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) เป็นสารออกฤทธิ์หลัก ซึ่งได้แก่ สาร Tetra-Hydro-Cannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) โดยพบว่าในกัญชา มีสาร THC มากกว่าสาร CBD โดยเฉพาะที่ใบและช่อดอก ขณะที่ในกัญชงพบสาร CBD มีปริมาณมากกว่าในกัญชา  

          สาร THC ในกัญชา ถูกจัดสารสารเสพติดที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย ทำให้ง่วง หลับง่าย กระตุ้นการอยากอาหาร ต้านปวด ต้านอาเจียน และคลายกล้ามเนื้อ แต่ทำให้เสพติดได้ และหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ใจสั่น หน้ามืด หรือเห็นภาพหลอน รวมทั้งอาการที่แสดงออกที่เห็นได้ชัดเจน เช่น  ตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา ส่วนสาร CBD พบได้มากในใบกัญชง ซึ่งมีการออกฤทธิ์ตรงข้ามกับสาร THC สาร CBD ไม่ถูกจัดเป็นสารเสพติด และไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีการใช้สาร CBD เพื่อแก้อาการชัก และการคลายเครียด ไม่ให้เกิดการดื้อหรือติด โดยกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา และอาหาร รวมทั้งมีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากให้เส้นใยที่มีคุณภาพสูงและมีประโยชน์โดยตรงต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และกระดาษ

อาการและผลกระทบของสาร THC

สาร THC พบได้ทั้งในกัญชาและกัญชง การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มาก อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยมีอาการแสดงต่างๆ ดังนี้

  • ด้านสภาพจิตและความประพฤติ จะเกิดความผิดปกติในการรับรู้ ความจำเสื่อม เกิดความผิดปกติของความสัมพันธ์ในการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่ทำงานประเภทขับขี่ยานพาหนะและทำงานกับเครื่องจักรกล

  • ด้านระบบทางเดินหายใจ หากมีการเสพกัญชาด้วยการสูบควัน จะทำให้ได้รับสารทาร์ (Tar) เข้าปอดและทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางระบบหายใจ เช่น คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น และสารดังกล่าวเป็นสารจำพวกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีสารเบนโซเอไพลีน (Benzo (a) Pyrene) ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็ง โดยมีการศึกษาพบว่ามีในกัญชามากกว่าในมวนบุหรี่มากถึงร้อยละ 30 หรือประมาณ 5 เท่า

  • ด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่าจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น มีอาการเจ็บหน้าอก มีอาการเส้นเลือกตีบตัน และส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำกว่าปกติในบางราย

  • ด้านระบบฮอร์โมนเพศและการสืบพันธุ์ อาจส่งผลให้เกิดภาวการณ์หย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีผลต่อการผลิตฮอร์โมนควบคุมการตกไข่ หรือทำให้ตัวอสุจิมีรูปร่างผิดปกติ เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ พิการ และมีการอัตราการตายสูงเมื่อคลอด

  • ด้านระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พบว่าทำให้ความต้านทานโรคของร่างกายลดลง เม็ดเลือดขาวลดลง และมีความเสี่ยงต่อการตายจากโรคมะเร็งได้ง่าย

   มาตรการความปลอดภัยที่นายจ้างควรดำเนินการ   

  • นายจ้างต้องจัดทำและทบทวนนโยบายการใช้กัญชาในสถานประกอบกิจการ และสื่อสารให้แก่พนักงานทุกระดับทราบ

  • ประกาศห้ามใช้ หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีสาร THC เป็นส่วนผสม ภายในสถานประกอบกิจการ

  • ผู้ใช้หรือได้รับสาร THC ควรงดปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขับขี่ยานพาหนะ รถโฟล์คลิฟท์ รถขนส่งสินค้า และทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อย่างน้อย 6 ชั่วโมง

  • ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคน รวมทั้งผู้รับเหมา และแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบกิจการ ต้องมีส่วนร่วมด้วยกันในการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแล และรายงานการพบเห็นการใช้ การเสพ หรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในงาน

  • เด็ก เยาวชน คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมลูก ไม่ควรกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา

  • นายจ้างต้องทบทวนระบบการจัดการความปลอดภัยเป็นประจำทุกปี เพื่อประเมินความเสี่ยง จัดเก็บสถิติอันตรายที่เกิดจากการใช้กัญชา เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันต่อไป

         ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นายจ้างจะตระหนักถึง สถานประกอบกิจการปลอดกัญชา/กัญชง ของตนเอง แม้ว่ากัญชาและกัญชง มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกัญชา/กัญชง ต่ออันตรายในการทำงาน  รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับข้อมูลสถิติการประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการใช้กัญชา/กัญชงในสถานประกอบกิจการในปัจจุบัน ดังนั้นนายจ้างจึงควรพิจารณามาตรการ    ปลอดกัญไว้ก่อน    จะดีกว่า

ที่มา

  • สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ. (2544). กัญชา/กัญชง. ห้องสมุดสำนักงาน ปปส.

  • ทิพยา จุลหวี ฟอร์จูน, ธนารักษ์ มั่งมีชัย และลลิตา ชมเพ็ญ. (มปป). มารู้จัก กัญชง-กัญชา กันเถอะ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.tistr.or.th/tistrblog/wp-content/uploads/2021/03 /Cannabis-sativa-L.pdf, [เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2565]

  • National Institute on Drug Abuse. Marijuana at work: What Employers need to know. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.nsc.org/membership/training-tools/best-practices/marijuana-at-work [เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2565]

  • School of Public Health. (2021). Car Crash Deaths Involving Cannabis on the Rise. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.bu.edu/sph/news/articles/2021/car-crash-deaths-involving-cannabis-on-the-rise/. [เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2565]

 

เข้าชม 5054 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 11 กรกฎาคม 2565 11:13

บทความที่ได้รับความนิยม