This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 21 กรกฎาคม 2565 11:02

การบริหารความเสี่ยงโครงการก่อสร้างเพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

      หลายๆ บริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงขึ้น ก็มักจะได้รับผลกระทบและความเสียหายตามมาอีกมากมาย จนทำให้บริษัทต้องปิดตัวลง พร้อมๆ กับหนี้สิน และหมดความน่าเชื่อถือ หากพยายามที่จะฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง  ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงความสูญเสียของทรัพยากรบุคคล ที่ต้องบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจทดแทน หรือกู้คืนกลับมาได้ไม่ว่าด้วยวิธีใด หรือใช้เงินมากแค่ไหนก็ไม่อาจทดแทนกันได้เลย

        แต่ถ้าเรามาพิจารณาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่เป็นที่รู้จักระดับประเทศ ที่มีอายุและอยู่ในวงการก่อสร้างมายาวนาน และมีงานให้ทำอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่บริษัทเล็กๆ ที่มีลูกค้าไว้ใจ และจ้างงานตลอดก็ล้วนแต่มีการลงทุนด้านความปลอดภัยทั้งสิ้น ซึ่งในบทความนี้ผมในฐานะที่อยู่ในวงการก่อสร้างตั้งแต่เรียนจบ และได้ทำงานกับหลายบริษัท หลายเชื้อชาติ ตลอดจนประสบการณ์การตรวจสอบบริษัทรับเหมาก่อสร้างอีกหลายสิบบริษัท จึงได้เห็นวิธีการทำงาน การบริหารจัดการ และการคัดเลือกบุคคลากรด้านความปลอดภัยของแต่ละบริษัท จึงได้ทราบเคล็ดลับ และกลยุทธต่างๆ ที่ส่งผลให้บางบริษัทล้มเหลวจนต้องปิดกิจการ กับอีกหลายบริษัทที่เจริญก้าวหน้าและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในวงการก่อสร้าง ผมจะเอาเทคนิควิธีการเหล่านั้น มาเล่าให้ฟัง เพื่อให้ทุกท่านนำไปปรับใช้ภายในองค์กร เพราะผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การเรียนรู้จากผู้ประสบความสำเร็จแล้วนำมาใช้  พร้อมๆกับนำบทเรียนจากผู้ล้มเหลวมาป้องกัน ย่อมทำให้องค์กรเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาและความเสี่ยงไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยผมขอเสนอแนะแนวทาง ดังนี้

 

  1. การคัดเลือกบุคคลากรให้เหมาะสมตามทักษะความรู้ความสามารถ  

        ทรัพยากรบุคคล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการกำหนดความสำเร็จของโครงการก่อสร้าง ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงทักษะความรู้และประสบการ์ณตามตำแหน่งหน้าที่งาน หรือที่เรียกกันว่า Competence  ตัวอย่างเช่น ช่างไฟฟ้า ก็ต้องเรียนจบด้านไฟฟ้า หรือผ่านการอบรมที่มีใบรับรองความรู้ มีการสัมภาษณ์ มีการทดสอบ เข้าใจลักษณะและขั้นตอนการทำงาน สามารถระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในแต่ล่ะขั้นตอน หรือจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม และสามารถเสนอแนะวิธีการทำงาที่ถูกต้อง และปลอดภัยมากขึ้นได้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มี Competence ตรงตามที่ต้องการ

 

  2. การจัดสรรงบประมาณด้านความปลอดภัย  

โดยทั่วไปการลงทุนด้านความปลอดภัยสำหรับโครงการก่อสร้าง ควรอยู่ที่  3-7% เป็นอย่างน้อยของมูลค่างาน ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ โดยงบประมาณที่ใช้จะจัดไว้สำหรับ

2.1) ค่าจ้างสำหรับบุคลากรด้านความปลอดภัย / เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย

2.2) การจัดไซต์งานเพื่อความปลอดภัย เช่น การกั้นรั้ว  การติดป้ายเตือน และสาธารณูปโภคที่จำเป็น

2.3) ค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม และจัดกิจกรรมต่างๆด้านความปลอดภัย

2.4) อุปกรณความปลอดภัย (เช่น เครื่องวัดก๊าซ นั่งร้าน) อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (เช่น PPE, ถังดับเพลิง, ตัวดูดซับสารเคมี) อุปกรณ์ฉุกเฉิน อุปกรณ์ปฐมพยาบาลและช่วยชีวิต

2.5) การให้รางวัล

 

  3. การบริหารโครงการก่อสร้าง  

3.1) การจัดองค์กรสำหรับไซต์ก่อสร้าง (Construction site Organize Chart)

การจัดองค์กรสำหรับโครงการก่อสร้าง เพื่อความสะดวกในการบริหารโครงการ การปฏิบัติงาน และการสื่อสารมักจะประกอบด้วยบุคลากร ดังต่อไปนี้

        3.1.1) ผู้จัดการโครงการ (Project Manager)  ตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดสำหรับโครงการก่อสร้าง ในการตัดสินใจ และการดำเนินการทุกอย่าง จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเลือกคนที่มีความรู้ และผ่านประสบการ์ณในการบริหารโครงการก่อสร้างมาก่อน และต้องเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดีในด้านความปลอดภัยในการทำงานด้วย จึงจะทำให้โครงการนั้นๆ จบโดยที่ไม่มีอุบัติเหตุหรือความสูญเสียเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง

        3.1.2) ผู้จัดการไซต์งาน (Site Manager) / วิศวกรประจำไซต์งาน (Site Engineer) / ผู้จัดการก่อสร้าง (Construction Manager)  เป็นตำแหน่งที่จะต้องอยู่ประจำไซต์งาน (ซึ่งต่างกับผู้จัดการโครงการที่ไม่จำเป็นจะต้องอยู่หน้างานทุกวัน) มีหน้าที่ปฏิบัติและควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามแบบ ตามคุณภาพ และขั้นตอนตามที่ผู้จัดการโครงการเป็นผู้กำหนด รวมถึงการติดตามผลความคืบหน้าของงาน และรายงานผลให้ผู้จัดการโครงการทราบ เพื่อการตัดสินใจสั่งการ และแก้ปัญหาต่างๆ โดยทั้วไปตำแหน่งนี้ มักจะเป็นวิศวกร หรือช่างที่มีประสบการ์ณสูง เพื่อฝึกทักษะความรู้ และประสบการ์ณเพื่อเติบโตขึ้นไปเป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager)

        3.1.3) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety Officer)  อาจมีได้ตั้งแต่ระดับผู้จัดการ, หัวหน้างาน หรือระดับเทคนิค  โดยทำหน้าที่ตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อควบคุมดูแล การทำงานให้ปลอดภัย อบรมให้ความรู้ ตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานให้ปลอดภัย  การรวบรวมข้อมูลทางสถิติ การรายงาน และสอบสวนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ การเสนอแนะแนวทางแก้ไขเพื่อลดความเสี่ยง ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ทั้งตามกฏหมาย และตามแผนงาน / นโยบายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร

        3.1.4) วิศวกรไฟฟ้า (Electrical Engineer)  ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบระบบ และอุปกรณ์ไฟฟ้า และการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าของทั้งโครงการ จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเป็นวิศวกรไฟฟ้า ที่มีทั้งความรู้ ความชำนาญ และเชี่ยวชาญทางด้านระบบไฟฟ้า

        3.1.5) ผู้ควบคุมคุณภาพ และรับประกันผลงาน (Quality Control & Assurance) ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของงานให้เป็นไปตามแบบก่อสร้าง และตามหลักวิศวกรรม รวมถึงควบคุมให้ทำงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ และมีเอกสารที่เป็นหลักฐานประกอบการทำงาน การส่งมอบงาน และการรับประกันผลงาน

        3.1.6) บัญชีการเงิน และจัดซื้อ   (Financial & Procurement) ตำแหน่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องนั่งประจำอยู่ที่ไซต์งาน แต่อาจนั่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ และลงมาตรวจสอบเอกสารทางบัญชีที่ไซต์งานบ้างเป็นครั้งคราว ทำหน้าที่ควบคุบบัญชี และการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามระบบ และขั้นตอนที่กำหนด รวมถึงอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ในการซื้อสินค้า วัสดุก่อสร้าง หรือการเช่าเครื่องจักรต่างๆ

        3.1.7) ธุรการทั่วไป  (Admin)  มักจะประจำอยู่ที่ไซต์งานทำหน้าที่ที่เกี่ยวกับเอกสาร ระบบงานบุคคล งานธุรการทั่วไปต่างๆ การรวบรวมข้อมูล พิมพ์ การจัดเก็บใส่แฟ้ม หรือหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้จัดการโครงการ

             ***นอกจากนี้ หากเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ อาจมีบุคคลากรจำนวนมาก และมีตำแหน่งอื่นๆ ที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่น Scheduler (ทำหน้าที่ตรวจเชคและควบคุมความก้าวหน้าของงานให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนงานก่อสร้าง), Document Control  (ทำหน้าที่ควบคุมเอกสารต่างๆ ของโครงการให้เป็นไปตามระบบ ตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้), HR (หากเป็นโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ที่มีคนจำนวนมาก ก็อาจมีผู้ที่ทำหน้าที่งานบุคคล มาประจำอยู่ที่ไซต์งานก็ได้เช่นกัน)

3.2) การกำหนดแผนความปลอดภัยในโครงการก่อสร้าง  (Construction Safety Plan)

ก่อนเริ่มงานก่อสร้าง ผู้รับเหมาจะต้องจัดทำแผนงานความปลอดภัย (Safety Plan) หรือบางโครงการอาจเรียกว่า แผนทบทวนความพร้อมก่อนเริ่มโครงการก่อสร้าง (CRR : Construction Readiness Review) ซึ่งในแผนดังกล่าวนี้จำประกอบไปด้วย

3.2.1) ข้อมูลทั่วไปของโครงการ และขอบเขตการทำงาน (Scope of work)

3.2.2) แผนผังโครงสร้างองค์กรสำหรับโครงการก่อสร้าง และหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ล่ะตำแหน่ง 

3.2.3) แผนผังไซต์งาน (Layout) การกั้นรั้ว การแบ่งโซน การติดป้ายเตือน และการกำหนดสาธารณูปโภคต่างๆในไซต์งาน

3.2.4) กิจกกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และมาตรการที่ใช้ในการควบคุม  (รวมถึงแผนงานขุดดิน และแผนงานยกวัตถุด้วยเครน)

3.2.5) นโยบาย กฏข้อบังคับ และเป้าหมายด้านความปลอดภัย

3.2.6) รายการสารเคมี เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้

3.2.7) ขั้นตอนการรายงาน และการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และเบอร์โทรติดต่อที่สำคัญ

3.2.8) เอกสาร แบบฟอร์ม การายงาน การประชุม และขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้สำหรับโครงการ

ประโยชน์ของการทำแผนความปลอดภัยในโครงการก่อสร้าง  (Construction Safety Plan)

  • เพื่อวางแผน วิเคราะห์งาน และพิจารณาความเสี่ยงก่อนเริ่มงาน

  • เพื่อลดความผิดพลาด และลดระยะเวลาจากการทำงาน

  • เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ขั้นตอนการทำงาน

  • เพื่อให้ทราบหน้าที่ความรับผิดชอบ และการติดต่อ สื่อสาร

  • เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ให้อยู่ในงบที่กำหนด

 

  4. การจัดการและควบคุมความเสี่ยง  

4.1) งานความเสี่ยงในไซต์งานก่อสร้าง (High risk activities in Construction site)

โดยผมขอสรุปกิจกรรมในงานก่อสร้างที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งพบด้ในงานก่อสร้างทั่วไปและเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิต หรือการบาดเจ็บที่รุนแรง ดังนี้

4.1.1) อันตรายจากงานขุดหลุมลึก (Excavation Hazard)

  อันตราย / การป้องกัน  

  • ดินถล่มทับคนที่ทำงานอยู่ในหลุมลึก
    ใช้ชีทไพล์ป้องกันดินถล่ม,  ขุดดินลาดเอียง (Cut slope)

  • ที่แคบ ลึก เข้าออก ขึ้นลง ลำบาก 
    ใช้บันไดขึ้นลงชนิดมีขั้นบันได มีราวจับ และถ้าหลุมลึกมากก็ต้องทำชานพัก

  • ขุดไปโดนท่อไฟฟ้า ท่อน้ำมัน หรือระบบท่อและสายสัญญาณต่างๆ ที่อยู่ใต้ดินขาด เสียหาย 
    ตรวจสอบแบบ As-Built drawing ก่อนเริ่มขุดเพื่อครวจสอบว่ามีระบบท่อหรือสยสัญญาณอยู่ใต้ดินหรือไม่,  ใช้เครื่องสแกนวัตถุใต้ดิน หรือใช้คนขุดดินในบริเวณที่อาจมีท่อและระบบสายสัญญาณใต้ดินแทนการใช้เครื่องจักร

  • น้ำใต้ดินปริมาณมาก 
    จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำให้เพียงพอทั้งปริมาณ และกำลังของเครื่อง

 

4.1.2) อันตรายจากการเข้าพื้นที่อับอากาศ (Confined Space Entry Hazard)

  อันตราย / การป้องกัน  

  • เป็นลมหมดสติ ขาดอากาศหายใจ หรือมีแก๊ซพิษในพื้นที่ทำงาน         
    ทำการวัดแก๊ซด้วยเครื่องวัดที่เหมาะสมก่อนอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าพื้นที่ และการจัดการระบายอากาศอย่างเหมาะสม เช่น การติดตั้งพัดลมเป่าอากาศ (Air blower)

 

4.1.3) อันตรายจากการทำงานบนที่สูง  (Working at height Hazard)     

  อันตราย / การป้องกัน  

  • พลัดตกจากที่สูง            
    เปลี่ยนวิธีการทำงานให้ไม่มีการทำงานบนที่สูง หรือลดระนะเวลาในการทำงานบนที่สูงให้น้อยที่สุด  การทำงานบนพื้นที่มั่นคงแข็งแรง เช่น บนกันสาด ดาดฟ้า  การติดตั้งราวกันตก  การทำงานบนอุปกรณ์สำหรับงานบนที่สูง เช่น นั่งร้าน  รถScissor lift  รถกระเช้า ฯลฯ

  • พลัดตกแล้วเหวี่ยงไปกระแทกผนัง หรือโครงสร้าง            
    กำหนดจุดยึด (Anchor point) ให้อยู่ใกล้กับพื้นที่ปฏิบัติงาน และเลือกใช้ Lanyards หรือ Life Line ให้มีขนาดความยาวที่เหมาะสม ไม่ยาวจนเกินไป

  • ของที่อยู่บนที่สูงล่วงหล่นมากระแทกคนที่อยู่ด้านล่าง          
    กั้นพื้นที่และติดป้ายเตือน (Barricade & Signage), ติดตั้งแผ่นกันของตกบนนั่งร้าน (toe board) หรือสายรัดอุปกรร์กันตก

  • พลัดตกแล้วห้อยแขวนอยู่กลางอากาศนานเกินไป       
    ใช้ Foot loop, Foot step หรือ กำหนดแผนและอุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉินเมื่อผู้ปฏิบัติงานพลัดตก และห้อยค้างอยู่กลางอากาศ

4.1.4) อันตรายจากการยกและเคลื่อนย้ายวัตถุ  (Lifting Material Hazard)

  อันตราย / การป้องกัน  

  • วัตถุที่ยกล่วงหล่นมาทับคนที่อยู่ด้านล่าง          
    กั้นพื้นที่ ติดป้ายเตือน ห้ามเข้าพื้นที่ที่กำลังทำการยกวัตถุ  ทำแผนการยก (Lifting plan) และตรวจสอบเครน และอุปกรณ์ช่วยยกก่อนทำการยกวัตถุ (Crane and lifting accessories)

  • อันตรายที่เกิดจากการควบคุม สื่อสารผิดพลาดขณะทำการยกวัตถุ          
    ตรวจสอบทักษะความรู้ การผ่านการอบรม และความพร้อมทางด้านร่างกายของผู้ควบคุมเครน และผู้ให้สัญญาณ  กำหนดผู้ช่วยในการดึงเชือกบังคับทิศทางวัตถุในขณะยก

  • รถเครนพลิกคว่ำ หรือสลิงขาด        
    ขอตรวจเชคใบ ปจ.2 ว่าเครนผ่านการตรวจมาหรือไม่ (ต้องตรวจทุก 3 เดือน) และตรวจความสมบูรณ์ของรถเครน รอก และอุปกรณ์ช่วยยกว่ามีชำรุด และพร้อมสำหรับการยกวัตถุอย่างปลอดภัยหรือไม่

4.1.5) อันตรายจากงานที่มีความร้อนและประกายไฟ  (Hot work Hazard)

  อันตราย / การป้องกัน  

  • ไฟไหม้ ระเบิด           
    ตรวจสอบหน้างาน แล้วหาทางกำจัด ควบคุมเชื้อเพลิง หรือ ความร้อนประกายไฟ ไม่ให้เกิดขึ้น หรือ แยกออกจากกัน เช่น การใช้อุปกรณ์ที่ไม่ทำให้เกิดประกายไฟ  การใช้ผ้าใบป้องกันไอน้ำมันไหลผ่าน  การใช้เครื่องวัดแก๊ซติดไฟ รมถึงการจัดเตรียม อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยชีวิต และแผนฉุกเฉินในกรณีที่เกิดไฟไหม้ หรือระเบิดขึ้น

4.1.6) อันตรายจากถังบรรจุก๊าซที่มีแรงดัน (Compressor Gas cylinder Hazard)

  อันตราย / การป้องกัน  

  • ถังระเบิด เกิดไฟหม้           
    ตรวจเชคสภาพถัง ท่อนำก๊าซ ตัวกันไฟไหลย้อนกลับ (Flash back arrestor )  เกจวัดและตัวควบคุมแรงดัน (Pressure gauge & regulator)

  • ถังแตก หรือพุ่งด้วยแรงดัน        
    ห้ามวางถังก๊าซในแนวนอน ให้วางตั้งขณะเก็บ หรือ วางบนรถเข็นรัดถังด้วยโซ่ขณะใช้งาน

  • ปฏิกริยาทางเคมี  การระเบิด        
    ห้ามวางถังก๊าซอ๊อกซิเจน ใกล้กับน้ำมัน จารบี หรือสารไฮดรอคาร์บอนทุกประเภท เพราะจะทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี แล้วเกิดการระเบิดที่รุนแรงได้

4.1.7) อันตรายจากกระแสไฟฟ้า (Electrical Hazard)

  อันตราย / การป้องกัน  

  • ไฟฟ้าดูด         
    ใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ทั้งสายไฟ ตู้ไฟ เต้ารับ เต้าเสียบ และตรวจสอบสภาพก่อนการใช้งาน  หากจำเป็นต้องตัดกระแสไฟ ต้องทำการล๊อคกุญแจที่สะพานไฟ แขวนป้ายห้ามใช้งาน, ห้ามสัมผัสกับสายไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรง (ควรใส่ถุงมือ) หรือขณะร่างกายเปียกชื้น  และยกสายไฟให้สูงเหนือศรีษะ (อย่างน้อย 2.5-3 เมตร) หากจำเป็นต้องลากสายไฟผ่านทางที่รถวิ่งหรือมีคนเดินผ่าน

  • กระแสไฟรั่ว ลัดวงจร
    ติดตั้งระบบสายดิน ติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟอัตโนมัติเมื่อกระแสไฟเกิน

4.1.8) อันตรายจากสารเคมี (Chemical hazard)

  อันตราย / การป้องกัน  

  • อันตรายจากการสัมพัสสารเคมี
    จัดหาข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีนั้นๆ (SDS)   สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่เหมาะสมขณะใช้งาน (ถุงมือ แว่นตา หน้ากาก หรืออื่นๆ ขึ้นอยู่กับปร้เภทของสารเคมี)  และติดป้ายเตือนอันตรายจากสารเคมีในบริเวณที่จัดเก็บ

  • อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อสารเคมีหก รั่วซึมลงดิน แหล่งน้ำ  
    จัดเก็บในบริเวณที่มีการป้องกันการหกรั่วซึม หรือวางบนถาดรอง  และจัดเตรียมอุปกรณ์ดูดซับสารเคมีในกรณีฉุกเฉินหากสารเคมีหักรั่วซึมออกมา

4.2) กิจกรรมที่ใช้ในการลดอุบัติเหตุและควบคุมความสูญเสียในโครงการก่อสร้าง

4.2.1) การวิเคราะห์อันตรายในแต่ล่ะขั้นตอนการทำงาน แล้วหามาตรการควบคุม (JHA : Job Hazard Analysis)

             การทำ JHA จำเป็นต้องเขียนขึ้นโดยผู้ที่รู้และเข้าใจขั้นตอนในการทำงานของกิจกรรมนั้นๆ โดยทำร่วมกันระหว่าง ผู้ปฏิบัติงาน  เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (และอาจต้องมีวิศวกรร่วมทำด้ายในบางกิจกรรมที่ต้องการข้อมูลทางด้านเทคนิค และทางวิศวกรรมประกอบการประเมินความเสี่ยง)  โดยหัวใจหลักของ JHA ก็คือการนำเอา JHA ที่ทำเสร็จแล้วมาสื่อสารพูดคุยกับผู้ปฏิบัติงาน และควบคุมให้ผู้ปฏิบัตงานทำตามขั้นตอนที่ระบุใน JHA และใช้มาตารการควบคุมอันตรายตามที่กำหนด

4.2.2)  การประชุมกลุ่มย่อยตอนเช้า (Tool Box Talk)

             แนะนำให้ทำทุกเช้าก่อนเริ่มทำงาน โดยหัวหน้างาน/โฟร์แมน เป็นผู้นำประชุม ใช้เวลา 5-15 นาที ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัย อธิบายขั้นตอนการทำงาน หน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ล่ะคน อันตรายและการป้องกัน โดยสามารถเพิ่มเติมในส่วนของการตรวจเช็คความพร้อมด้านร่างกาย  อุปกรณ์ป้องกันอันตรายรวมถึงเครื่องมือที่จะใช้ปฏิบัติงานว่ามีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่  ดังนั้น ผู้ที่นำประชุม จึงต้องเป็นผู้ที่มทักษะในการสื่อสาร และช่างสังเกตุ และมีจิตสำนึกในการป้องกันอุบัติเหตุอย่างถูกต้อง

4.2.3) การเดินสำรวจหน้างาน (Walk through survey)

             หลังจากที่ประชุมกลุ่มย่อย หรือทำ Tool Box Talk   เสร็จแล้ว ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำงานจริงๆ  ผู้ปฏิบัติงานควรที่จะเดินสำรวจพื้นที่การทำงานก่อนเริ่มทำงานอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ทั้งจากอุปกรณ์  เครื่องจักร  สภาพแวดล้อม หรือสัตว์ร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณพื้นที่การทำงาน

4.2.4) การตรวจสอบหน้างาน (Site inspection)

             ในระหว่างการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (หรือผู้ควบคุมงาน) ควรทำการเดินเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ซึ่งอาจมีรายการตรวจ (Checklist) เพื่อเป็นแนวทางว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง รวมถึงสังเกตุพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงาน และสภาพแวดล้อม ว่ามีความเสี่ยงอะไรที่ต้องหยุดงาน แก้ไข หรือกำจัดออกไปหรือไม่

4.2.5) การยับยั้งแทรกแซง และการสั่งหยุดงาน (Intervention & Stop work)

             ในการเดินสำรวจงาน หากพบการกระทำที่ฝ่าฝืนกฏ  ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย  หยอกล้อเล่นกัน หรือกระทำการใดๆที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย การบาดเจ็บ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (หรือผู้ควบคุมงาน) มีอำนาจในการสั่งหยุดงานชั่วคราวได้ทันที  เพื่อแก้ไขปัญหา จัดการความเสี่ยง หรือตักเตือนผู้ปฏิบัติงาน จนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงสั่งให้เริ่มปฏิบัติงานต่อไป ทั้งนี้ ควรที่จะถ่ายรูป และบันทึกข้อมูลความเสี่ยง เหตุการณ์ หรือ การกระทำที่ไม่ปลอกภัยนั้นๆ ไว้ด้วยเพื่อนำมาสรุป และวิเคราะห์หาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงๆ นั้นๆซ่ำขึ้นอีก

             หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านบทความนี้ จะนำตัวอย่างที่ผมได้นำนำขึ้นจากประสบการ์ณตรงจากการทำงาน ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในองค์กร ในไซต์งาน หรือที่บ้านของท่านอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ไม่ใช่แค่เพียงป้องกันอุบัติเหตุและลดความสูญเสียเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ธุรกิจของท่านได้รับผลกำไรมากขึ้น หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าขององค์กร ให้มีโอกาสได้รับงานใหญ่ๆ และหลายๆงาน ซึ่งในปัจจุบัน ผลจากการลงทุน และการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยในงานก่อสร้าง ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ว่าจ้างทุกคนต้องการให้ผู้รับเหมาปฏิบัติทุกโครงการ โยตัวอย่างของหลายๆบริษัทที่เติบโต ก็เพราะการลงทุน และความตั้งใจจริงในการนำเอาระบบบริหารความปลอดภัยมาใช้ในโครงการก่อสร้างก็เป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้ว รวมถึงหลายๆบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ต้องปิดตัวลงอันเนื่องมาจากผลของอุบัติเหตุ และการไม่ใส่ใจในความปลอดภัยของลูกจ้างก็มีตัวอย่างอีกไม่น้อย เช่นกัน

 

บทความโดย : ชลาธิป อินทรมารุต

ผู้จัดการฝ่ายอาชีวอนามัย และความปลอดภัย  

บริษัทอาร์ทิเลีย คอร์เนอร์สโตน จำกัด

 

 

เข้าชม 11426 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 21 กรกฎาคม 2565 16:01

บทความที่ได้รับความนิยม