“ไฟฟ้า” หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตต่อผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการโดนไฟฟ้าช็อคหรือไฟฟ้าดูด เป็นต้น เนื่องจากไฟฟ้าเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถสัมผัส ได้กลิ่น หรือมองเห็นได้ ดังนั้นกว่าจะรู้ว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วออกมา ผู้ปฏิบัติงานก็อาจจะสัมผัสและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทัน จนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
จากข้อมูลของ Electrical Safety Foundation International (ESFI) ระหว่างปี 2554-2561 พบว่า 38% ของการเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เกิดจากสายไฟฟ้าแรงสูง โดยจากข้อมูลนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ปฏิบัติงานมีการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องทางด้านไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย หรือไม่เคยได้รับการฝึกอบรมทางด้านไฟฟ้าเลย จึงทำให้ขาดความรู้ ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานดังกล่าว และไม่ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้านั่นเอง
โดยสายไฟฟ้าแรงสูง เป็นโครงสร้างที่ใช้ในระบบส่งกำลังไฟฟ้า และการกระจายเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าในระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการสูญเสียทางไฟฟ้าต่ำกว่าระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าต่ำ ประกอบด้วยสายไฟฟ้าหนึ่งสายหรือมากกว่า รวมถึงมีแรงดันไฟฟ้าสูงกว่า 1,000 โวลต์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามเราสามารถทราบว่าสายไฟฟ้านั้นเป็นสายไฟฟ้าแรงสูงได้โดยสังเกตจาก ระดับความสูงของสายไฟฟ้าแรงสูง มักจะอยู่ห่างจากพื้นดินตั้งแต่ 9 เมตรขึ้นไป หรือสังเกตจาก “ลูกถ้วย” ซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้าทำมาจากกระเบื้องเคลือบหรือแก้ว ใช้ในการจับยึดสายไฟฟ้า และต้องใช้ลูกถ้วยในจำนวนที่เหมาะสมกับไฟฟ้าแรงสูงนั้นๆ ด้วย
หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะการทำงานที่ใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูงคงไม่ใช่เรื่องที่จะพบได้ทั่วไปนัก แต่สำหรับงานก่อสร้าง งานขุดเจาะ หรือแม้แต่การติดตั้งป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าแรงสูงก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ เนื่องจากไฟฟ้าแรงสูงมีแรงดันไฟฟ้าที่สูงมากจึงสามารถที่จะกระโดดข้ามผ่านอากาศ หรือฉนวนไฟฟ้า เข้าหาวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องมีการสัมผัสหรือแตะสายไฟ ยิ่งแรงดันไฟฟ้าสูง
การกระโดดของพลังงานไฟฟ้าก็ยิ่งไกลขึ้น ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติงานที่จะต้องเกี่ยวข้องกับสายไฟฟ้าแรงสูง ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ระยะห่างในการทำงานที่ปลอดภัยกับสายไฟฟ้าแรงสูง เพื่อป้องกันการสัมผัสกับไฟฟ้าแรงสูง ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกไฟฟ้าแรงสูงมักจะบาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นเสียชีวิตหรืออาจจะทุพพลภาพได้
ดังนั้น บุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในบริเวณที่มีสายไฟฟ้าแรงสูง จะต้องทราบระยะห่างที่ปลอดภัยในการทำงานกับสายไฟฟ้าแรงสูง โดยพิจารณาระยะห่างที่ปลอดภัยจากแรงดันไฟฟ้า โดยมีระยะห่างอย่างน้อย 3 เมตร รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือกลทุกชนิด เช่น รถเครน ปั้นจั่น หรือวัตถุที่ถืออยู่ในมือด้วย (หมายเหตุ ระยะห่างอาจแตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่ใช้ในการอ้างอิง)
ขนาดแรงดันไฟฟ้า (โวลต์) |
ระยะห่างที่ปลอดภัย (เมตร) |
12,000 – 69,000 |
3.05 |
115,000 |
3.20 |
230,000 |
3.90 |
แรงดัน (kV) |
ระยะที่ใกล้ที่สุด (เมตร) |
0.4 - 3.5 |
0.50 |
11 - 33 |
1.00 |
66 - 100 |
1.75 |
115 – 230 |
3.00 |
*** พิจารณาระยะห่างอีกครั้ง ว่าควรจะใช้ระยะห่างอันไหน หรือจะอ้างอิงแบบประมาณคร่าวๆ
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง เราลองไปดูแนวทางการปฏิบัติงานกับไฟฟ้าแรงสูง ดังนี้
- ปฏิบัติงานให้ห่างจากสายไฟฟ้าแรงสูงตามระยะห่างที่ปลอดภัย พร้อมทั้งรักษาระยะห่างของตัวผู้ปฏิบัติงานและอุปกรณ์ที่จะใช้ให้ห่างจากสายไฟฟ้าแรงสูงอย่างสม่ำเสมอ
- กรณีที่มีการใช้บันไดร่วมในการปฏิบัติงาน ควรยกบันไดในแนวนอนหรือขนานกับพื้น เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสในการสัมผัสกับสายไฟฟ้า
- ควรตรวจสอบว่าบริเวณที่ปฏิบัติงานมีกิ่งไม้หรือต้นไม้อยู่บริเวณสายไฟหรือไม่ หากมีควรตัดหรือเล็มกิ่งไม้ออกก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งไม้หักมาโดนสายไฟขณะปฏิบัติงาน ซึ่งเมื่อกิ่งไม้แตะสายไฟฟ้าอาจทำให้มีไฟฟ้ารั่วลงมาตามกิ่งไม้ ทำให้ได้รับอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว
นอกจากนี้ หากมีการขุด เจาะ หรือตอกปักวัตถุ เช่น แท่งโลหะลงในดิน ควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่า ไม่มีหลักดินของสายไฟฟ้าแรงสูงอยู่ใต้พื้นดินนั้น ทั้งนี้ขณะปฏิบัติงานควรมีการกั้นพื้นที่ไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องอีกด้วย
อ้างอิง คู่มือการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าแรงสูง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- https://www.esfi.org/overhead-power-line-safety
- https://testguy.net/content/191-NFPA-70E-Arc-Flash-and-Shock-Hazard-Boundaries-Explained