This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 24 เมษายน 2566 09:39

โรคลมแดด หรือ Heat Stroke

        ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ ทุกพื้นที่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากลมร้อน ทำให้มีอากาศที่ร้อนขึ้น นั่นอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เป็น “โรคลมแดด หรือ Heat Stroke” โรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายในยุคปัจจุบันและอาจคร่าชีวิตได้

        โรคลมแดด คือภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่ที่อุณหภูมิร้อนมาก ๆ และร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

        สาเหตุของโรคลมแดด มาจากการอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะขณะที่อากาศร้อนชื้น หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกายในสถานที่ที่อากาศร้อน อาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เป็นโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไป ทำให้เหงื่อระบายได้ยาก การดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ทานน้ำน้อย เป็นต้น

        กลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นโรคลมแดดได้มากกว่าผู้อื่น เช่น เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ (อายุเกิน 65 ปี) มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ช้า และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่าย ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน เช่น ต้องเดินทางไปประเทศที่อุณหภูมิอากาศร้อนกว่า หรือเจอมรสุมพายุฤดูร้อน ผู้ที่ทานยาบางชนิด ได้แก่ ยาลดความดันโลหิตบางประเภท ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตเวช ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาระบาย ยาบ้า โคเคน และผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน หรือเคยเป็นโรคลมแดดมาก่อน

        อาการของโรคลมแดดที่อาจสังเกตได้ เช่น อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ ลุกลี้ลุกลน พูดช้า สับสน ชัก เพ้อ หมดสติ ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ เช่น อยู่ในสถานที่ร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังและหน้าเปลี่ยนเป็นสีออกแดง เหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ปวดศีรษะ หรือไตวาย ปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ เอนไซม์ในกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ

        วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ผู้ป่วยที่มีอาการควรรีบหลบแดด ย้ายมาอยู่ในที่ร่ม ถอดเสื้อคลุมที่ไม่จำเป็นออก ทำให้ร่างกายเย็นด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นโดยเฉพาะที่บริเวณหลังคอ ข้อพับ และขาหนีบ เป่าพัดลมที่มีไอน้ำเย็น เปิดแอร์ ดื่มน้ำ และน้ำเกลือแร่ให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่

        วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นโรคลมแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เพื่อให้ผิวหนังได้มีการระบายความร้อนได้ง่าย ใช้อุปกรณ์บังแดด ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หาเวลาพักอยู่ในที่ร่มเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงที่ร้อนสุดคือช่วงกลางวัน ถ้ายังไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน เช่น เพิ่งย้ายมาอยู่ในประเทศที่ร้อนกว่า ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือการออกกำลังกายหนักในระยะแรก จนกว่าร่างกายจะชินกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ถ้าทราบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคลมแดด เช่น มีโรคประจำตัว สูงอายุ ทานยาที่มีความเสี่ยง ควรสังเกตอาการตนเอง หากเริ่มมีอาการที่เข้าข่ายโรคลมแดด ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบไปโรงพยาบาลทันที

เรียบเรียงโดย

 • แพทย์หญิงพร้อมพรรณ พฤกษากร
 • แพทย์อายุรกรรมต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
 • โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

เข้าชม 4820 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 24 เมษายน 2566 10:09

บทความที่ได้รับความนิยม