This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 31 สิงหาคม 2566 13:50

การปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยในคลังสินค้าและท่าเรือ

        ปัจจุบันโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในการกระจายสินค้าสู่ตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ   ซึ่งธุรกิจของเราก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่ให้การบริการด้านคลังสินค้า และท่าเรือ รวมถึงการขนส่งตั้งแต่ต้นทางมายังปลายทาง ทำให้มีคนทำงานที่หลากหลาย จึงมีความยากและท้าทายในการบริหารจัดการความเสี่ยง

        มาตรฐานความปลอดภัยจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยผู้บริหารด้านสุขภาพและความปลอดภัย (HSE) ได้รายงานตัวเลขและเหตุการณ์ภาคการขนส่งและคลังสินค้า เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต อันดับที่ 1 เกิดจากการถูกรถชน อันดับที่ 2 เกิดจากตกจากที่สูง และอันดับที่ 3 เกิดจากการกระแทกของวัตถุที่เคลื่อนที่  จากผลการวิจัยของ Herbert  W. Heinrich สรุปสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ เป็น 2 ประการ คือ การกระทำที่ไม่ปลอดภัย 85% และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย 15% จะสังเกตุได้ว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่แล้วเกิดจาก “คน”

        ความผิดพลาดของคน หรือ Human Error มีทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเริ่มจากการทำตามสัญชาตญาณ เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น จะเริ่มตีความไปเองว่าบางครั้งไม่ต้องทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ 100% ก็ได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน  นำมาซึ่งการทำงานผิดขั้นตอน  และเมื่อมีคนใหม่เข้ามาแม้จะมีการสอนงานมาบ้าง แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่ทำให้ตระหนักได้เหมือนคนที่ทำงานมานาน  ดังนั้นการสื่อสารจึงมีความสำคัญ เพราะเพียงสื่อสารผิดก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายได้  ในการทำงานหากมีการควบคุมงานทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว ก็มีโอกาสที่จะมองข้ามความผิดพลาดของตนเอง จึงต้องมีผู้ตรวจสอบและมอบหมายหน้าที่อย่างชัดเจน  รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อมให้สะอาดเรียบร้อยก็สำคัญ ที่เรารู้จักกันในนาม “5ส” (สะสาง, สะดวก, สะอาด, สุขลักษณะ และ สร้างนิสัย) นั้นคือ จุดเริ่มต้นของความปลอดภัย (Safety First)

        องค์กรจึงเกิดการสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เรียกว่า BBS (Base Behavior Safety) : การสังเกตุพฤติกรรมความปลอดภัย ใช้ระบบ “เพื่อนเตือนเพื่อน” เก็บข้อมูลผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า QR Code มาวิเคราะห์ความผิดพลาดของคน Human Error ประเมินความเสี่ยงด้วยวิธี JSA  (Job Safety Analysis) ซึ่งง่ายและรวดเร็วที่สุด สามารถอธิบายการยอมรับความเสี่ยงด้วยการสร้างตารางเมทริกซ์ (Risk Matrix) คือ โอกาส X ความรุนแรง เพื่อระบุความเสี่ยงขององค์กรและหามาตรการป้องกันเชิงรุก  จากนั้นหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงานร่วมกันกำหนดคู่มือการทำงาน QP (Quality Procedure) และ WI (Work Instruction) ใช้การสื่อสารผ่านระบบ E-Smart ISO อบรมก่อนเริ่มงาน ควบคุมการทำงานด้วยระบบ Work Permit ใช้ Checklist ในการตรวจสอบ  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เช่น คน เครื่องจักร กระบวนการ ต้องมีการทำ Management of change และนำคู่มือนั้นมาทบทวน เพื่อป้องกันการเกิดข้อผิดพลาด Human Error ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพื่อวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงให้อยู่บนพื้นฐานของ กฎหมายความปลอดภัย ข้อกำหนดคลังสินค้าและท่าเรือ ISPS CODE การตอบโต้เหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

        ดังนั้น การขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัย ต้องเริ่มจากความชัดเจนของนโยบายความปลอดภัยตั้งแต่ผู้บริหาร  พนักงาน และทุกคน ที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร โดยไม่โยนให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง  เพื่อให้ทุกคนนั้นมาทำงานและกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยครบ 32 ประการ

 

บทความโดย :

• นางสาววรากานต์  คำดำ
• เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ
• บริษัท ยูไนเต็ด แสตนดาร์ด เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน)

 

อ้างอิง :

• Ellis Whittam , Health and safety in logistics | 5 areas of focus for 2021. https://worknest.com. แหล่งที่มา : https://worknest.com/blog/health-and-safety-in-logistics-5-areas-of-focus-for-2021/ ค้นเมื่อ 28 มกราคม, 2566

• KANE LOGISTICS, Top Causes of Warehouse Accidents. https://www.kanelogistics.com . แหล่งที่มา : https://www.kanelogistics.com/blog/top-causes-of-warehouse-accidents ค้นเมื่อ 28 มกราคม, 2566

• HW Heinrich , "สาเหตุของอุบัติเหตุ - แหล่งข้อมูลพื้นฐานเพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ...". https://sites.google.com

แหล่งที่มา:

https://sites.google.com/a/nongki.ac.th/ ค้นเมื่อ 28 มกราคม, 2566

เข้าชม 5340 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 31 สิงหาคม 2566 14:27

บทความที่ได้รับความนิยม