เครื่องจักร เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตต่างๆ เช่น รถยนต์ อาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ อีกจำนวนมาก การใช้เครื่องจักรในสถานประกอบกิจการตั้งแต่อดีตมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเพื่อควบคุมหรือทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ในปัจจุบันเครื่องจักรอัตโนมัติถูกนำมาใช้แทนแรงงานคนเพิ่มมากขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้าง และควบคุมคุณภาพของการผลิตให้ได้มาตรฐาน อันนำไปสู่ความเชื่อมั่นของลูกค้า จากข้อมูลสถิติกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม รายงานว่าระหว่างปี 2559-2563 เครื่องจักรเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกจ้างประสบอันตรายมากเป็นอันดับสาม คิดเป็นร้อยละ 13.18 รายต่อปี รองจากวัตถุหรือสิ่งของ และเครื่องมือ ตามลำดับ และตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ เป็นตำแหน่งที่มีจำนวนการประสบอันตรายสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 26.78 รายต่อปี
อันตรายจากสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เกิดจากเครื่องจักร มีหลายลักษณะ ได้แก่
- อันตรายจากส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักร เช่น รอก สายพาน เพลา หรือสิ่งที่สัมพันธ์กัน รวมถึงเครื่องมือกล เป็นต้น ที่สามารถทำให้เกิดการตัด กระแทก หรือดึงอวัยวะของผู้ปฏิบัติงานและทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เช่น การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ การขับรถฟอร์คลิฟต์ การใช้ลิฟต์โดยสารและลิฟต์ขนส่งวัสดุ การใช้ปั้นจั่น เป็นต้น
- อันตรายจากแหล่งกำเนิดพลังงานขับเคลื่อนเครื่องจักร เช่น ไฟฟ้า เชื้อเพลิง ก๊าซ แสงอาทิตย์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือแรงดันลม
- อันตรายด้านกายภาพ เช่น เสียงดังจากการทำงานของเครื่องปั๊มโลหะ ความสั่นสะเทือนของเครื่องสกัด (Jack hammer) เครื่องตอกเสาเข็ม แสงจากเครื่องเชื่อม หรือแสงจ้าหรือแสงตกกระทบของดวงใฟจากเครื่องจักร หรือแม้กระทั่งความร้อนและความเย็นที่เกิดจากเครื่องจักรทำงาน หรืออันตรายจากรังสีที่เกิดจากเครื่องจักร เป็นต้น
- อันตรายด้านเคมี เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Inhalable and Respirable Dusts) ละอองน้ำมัน (Oil mists) ก๊าซและไอระเหยของสารเคมี เช่น ไอกรดจากการชาร์ทแบตเตอรีสำหรับรถยกไฟฟ้า ไอระเหยของของเหลวไวไฟ แอลกอฮอร์ ฯลฯ และฟูมโลหะ เช่น ฟูมตะกั่ว ปรอท เป็นต้น
- ด้านการยศาสตร์ พบว่าปัญหาของลูกจ้างในการปฏิบัติงานกับเครื่องจักรที่พบได้บ่อยในปัจจุบันคือปัญหาด้านการยศาสตร์ ซึ่งไม่มีการรายงานสถิติการประสบอันตราย เนื่องจากผลของอันตรายส่วนมากหาสาเหตุได้ยากและอาจต้องใช้เวลายาวนานในการเห็นผลของอันตราย ตัวอย่างเครื่องจักรที่พบปัญหาด้านการยศาสตร์ ได้แก่ เครื่องปั่นผ้าย ปัญหาการยศาสตร์ที่พบได้แก่ การจัดวางสิ่งของ ขนาดของช่องทาง การเข้าถึงเครื่องจักรแบบทั้งตัว หรือการปฏิสัมพันธ์ของผู้ปฏิบัติงานกับจอภาพหรือระบบควบคุมงาน
- ด้านจิตวิทยาสังคม เช่น ความเครียดจากการทำงาน หรือปริมาณงานที่มากเกินไป เป็นต้น
ดังนั้นนายจ้างและบุคลากรด้านความปลอดภัย จึงควรตระหนักถึงอันตราย รวมทั้งมีการประเมินความเสี่ยงอันตรายที่เหมาะสมกรณีที่ต้องมีการทำงานกับเครื่องจักร เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันไม่ให้ลูกจ้างต้องได้รับอันตราย โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัยสำหรับสภาวะแวดล้อมในการทำงานจากเครื่องจักร ดังนี้
- ควรมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรเป็นประจำ มีการตรวจวัดระดับความเสียง หากระดับเสียงดังที่ตัวบุคคลเกิน 85 เดซิเบลเอ ควรจัดให้มีโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing Conservative Program) แก่ลูกจ้าง และหากจำเป็นต้องวัดความถี่ของเสียง (Octave Band Analysis) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการได้ยินของลูกจ้างได้ยิ่งดี หรือทำการศึกษาแผนที่ระดับความดังเสียง (Noise Contour Map) เพื่อกำหนดระยะปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง หรือติดตั้งฉนวนกันเสียงหรือลดเสียงให้อยู่ระดับที่ปลอดภัย โดยเลือกใช้การสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียงที่ตัวบุคคลเป็นลำดับท้ายสุด
- ควรให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันแสงจากการเชื่อมไฟฟ้าและเชื่อมแก๊ส จัดแสงสว่างในพื้นที่ปฏิบัติงานให้เพียงพอ และตรวจวัดระดับความเข้มแสงบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานของลูกจ้าง และปรับสภาพการทำงานเพื่อลดแสงจ้าหรือแสงตกกระทบจากดวงไฟของเครื่องจักร
- ควรตรวจวัดระดับความร้อนในบริเวณทำงานที่ลูกจ้างได้รับผลกระทบ
- ควรตรวจวัดคุณภาพอากาศในการทำงาน เพื่อประเมินระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซและไอระเหย รวมทั้งปริมาณโลหะหนักที่ปล่อยออกจากเครื่องจักร เพื่อป้องกันอันตรายทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้าง
- จัดให้มีการระบายอากาศแบบทั่วไปเพื่อลดความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศ หรือระบบระบายอากศแบบเฉพาะที่เพื่อกำจัดก๊าซและไอระเหยของสารเคมีที่เป็นอันตรายออกจากพื้นที่การทำงาน
และท้ายสุดนายจ้างและบุคลากรด้านความปลอดภัย ต้องมีการสื่อสารความเป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเครื่องจักรแก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการทำงานเพื่อลดอันตรายจากสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เกิดจากเครื่องจักรได้
บทความโดย
• ประเสริฐ เหล่าบุศณ์อนันต์
ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ (สสปท.)