This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 08 กุมภาพันธ์ 2567 09:15

ทำไมการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรจึงมีความสำคัญต่อความปลอดภัยของพนักงาน

         การดูแลความปลอดภัยในการทำงานหรือการปกป้องพนักงานควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับบริษัทหรือสถานประกอบกิจการ  แต่เราจะพบว่ายังมีนายจ้างส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าการลงทุนด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงานจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน เสียเวลาในการผลิตสินค้า ซึ่งไม่สามารถพูดเกินจริงได้เลย!  ซึ่งเมื่อความปลอดภัยในการทำงานไม่ได้ให้ความสำคัญจากผู้บริหารหรือผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการนั้น  ย่อมส่งผลกระทบและความสูญเสียโดยตรงต่อพนักงานที่ปฏิบัติงาน

         พนักงานที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรหรือช่างซ่อมบำรุงเองนั้น  สามารถถูกกระแทกและบาดเจ็บจากชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักรหรือวัสดุที่พุ่งออกมา ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสามารถดึงเข้าหรือติดอยู่ระหว่างลูกกลิ้ง สายพาน และตัวขับรอก ต่างๆ เหล่านี้ได้  เครื่องจักรที่มีความคม  ขอบ  มุมต่างๆที่มีคมอาจทำให้เกิดบาดแผลและบาดเจ็บได้  ส่วนปลายแหลมอาจทำให้ถูกแทงหรือเจาะผิวหนัง และส่วนพื้นผิวที่ขรุขระอาจทำให้เกิดการเสียดสีหรือถลอกได้   พนักงานที่ปฏิบัติงานในจุดนั้นๆ สามารถถูกบดขยี้ได้ทั้งระหว่างส่วนที่เคลื่อนที่เข้าหากันหรือเข้าหาส่วนที่ติดอยู่กับเครื่องจักร ผนังหรือวัตถุอื่นๆ และส่วนที่เคลื่อนผ่านกันและกันอาจทำให้เกิดการตัดเฉือนได้  ชิ้นส่วนของเครื่องจักร วัสดุ และการปล่อยมลพิษ (เช่น ไอน้ำหรือน้ำ) อาจร้อนหรือเย็นพอที่จะทำให้เกิดแผลไหม้หรือน้ำร้อนลวก และไฟฟ้าอาจทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตและไหม้ได้

 

พนักงานคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร

Employees are the most important resource of an organization.

       อ้างอิงตาม กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564

       “เครื่องจักร หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นส่วนหรับก่อกำเนิดพลังงานเปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ  ไอน้ำ  เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ  แสงอาทิตย์ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ล้อต้นกำลัง รอก สายพาน  เพลา เฟือง หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสัมพันธ์กัน รวมทั้งเครื่องมือกล

       เครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร หมายความว่า ส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบ หรือติดตั้งไว้ในบริเวณที่อาจเป็นอันตรายจากเครื่องจักรเพื่อช่วยป้องกันอันตรายแก่บุคคลที่ควบคุมหรือ อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

          จากสถิติการประสบอันตรายฯ กองทุนเงินทดแทน / สำนักงานประกันสังคม  พบว่าความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน  โดยสาเหตุมาจากเครื่องจักรนั้น มีผู้เสียชีวิต  ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่ค่อนข้างร้ายแรง อาจถึงขั้นสูญเสียอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น นิ้วมือ มือ หรือแขน ซึ่งอยู่ใน 5 อันดับแรกของสิ่งที่ทำให้ลูกจ้างประสบอันตราย อันเป็นผลให้ผู้บาดเจ็บต้องพิการไปตลอดชีวิตเป็นจำนวนที่มากอย่างต่อเนื่อง  นั่นย่อมสะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยในการทำงานของพนักงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบกิจการนั้นยังมีอยู่มากอย่างต่อเนื่องหรืออาจถูกละเลยในการที่จะบริหารจัดการด้านความปลอดภัยให้พนักงานทำงานด้วยความปลอดภัยและมีมาตรฐาน

  สาเหตุของอุบัติเหตุจากเครื่องจักร  

          สาเหตุหลักๆของการเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องจักร ได้แก่ จากเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ (Hardware) ไม่มีการติดตั้งเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรที่เรียกว่า การ์ดหรือเซฟการ์ดที่เหมาะสมให้กับเครื่องจักรที่มีส่วนจุดที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะเครื่องปั้มโลหะ เครื่องจักรบางเครื่องที่มีการติดตั้งเซฟการ์ดเฉพาะด้านที่คิดว่าผู้ปฏิบัติงาน  หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะไปสัมผัสหรือทำงาน แต่ด้านที่ไม่มีเซฟการ์ดมักทำให้ช่างซ่อมบำรุงได้รับอันตรายอยู่เสมอ นอกจากนี้เครื่องจักรบางเครื่องได้มีการติดตั้งเซฟการ์ดเรียบร้อยแต่ปรากฏว่ารูหรือช่องตะแกรงของเซฟการ์ดนั้นมีขนาดโตเกินไป ทำให้นิ้วหรืออวัยวะของร่างกายลอดผ่านเข้าไปได้

  การป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุจากการทำงานกับเครื่องจักร  

•  การ์ดป้องกันความปลอดภัยของเครื่องจักร เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและจำเป็นในการปกป้องพนักงาน   แต่ไม่ควรใช้วิธีการรักษาความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว ท้ายที่สุด วิธีที่ดีที่สุดในการอยู่อย่างปลอดภัยคือการสามารถระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมด และเป็นการป้องกันที่แหล่งกำเนิดของอันตราย

      ระบบการบริหารจัดการ สำหรับเครื่องจักรนั้น สิ่งสำคัญมาตรฐานที่ควรกำหนดในการใช้งานเครื่องจักร  ควรที่จะต้องมีการการตรวจสอบ  การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง รวมถึงต้องมีการจัดการความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรก่อนนำมาใช้งาน  ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานได้อย่างมากเลยทีเดียว

•  การใช้ป้ายความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานควรมีป้ายความปลอดภัยกำกับเพื่อระบุและป้องกันไม่ให้พนักงานได้รับอันตราย  ชิ้นส่วนเครื่องจักรที่หมุนได้ ควรติดป้ายความปลอดภัยไว้ใกล้แหล่งที่อาจเกิดอันตรายและมองเห็นได้ชัดเจน อยู่ในระดับสายตาในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ หากสถานที่นั้นมีแสงสว่างน้อย ให้ใช้สีเรืองแสง วัสดุสะท้อนแสง หลีกเลี่ยงการวางป้ายความปลอดภัยจำนวนมากใกล้กันเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน ต้องใหญ่พอที่จะมองเห็นและอ่านได้จากระยะไกล ขอแนะนำให้ใช้ข้อความที่สั้น ชัดเจน และรัดกุมบนแผงควบคุม เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานมักจะไม่อ่านหรืออ่านเฉพาะป้ายที่มีคำสั่งยาวเกินไป ขอแนะนำให้ใช้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับอันตรายและการดำเนินการที่ต้องปฏิบัติตาม

•  ฝึกอบรมพนักงาน ตามที่พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กำหนดให้อธิบดีประกาศฯ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างระดับบริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้าง ทุกคน กรณีลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างจัด ให้มีการฝึกอบรม ลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงานการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่พนักงานก่อนที่จะให้พนักงานนั้นไปปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร นั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด  เพราะการที่พนักงานเข้าไปปฏิบัติงานโดยที่มีความรู้  ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนั้นมีโอกาสสูงมากที่ พนักงานจะปฏิบัติงานแล้วเกิดความผิดพลาดและส่งผลกระทบต่อเครื่องจักร  อันตรายที่จะเกิดขึ้น คู่มือการทำงาน  วิธีการทำงาน กฎระเบียบ/ข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร รวมถึงมาตรฐานการทำงาน ที่ถูกกำหนดและจัดทำไว้จะต้องถูกนำมาถ่ายทอด  อบรมให้กับพนักงานทุกคนก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงาน  สิ่งนี้ถือว่าหัวหน้างานจะละเลยหรือข้ามขั้นตอนไปไม่ได้ รวมถึงการติดตามและประเมินผล เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานที่ผ่านการอบรมแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและปลอดภัยด้วย

•  นำระบบการล็อกและตัดแยกพลังงานด้วยระบบป้ายเตือนมาควบคุมการทำงาน คือการทำให้เกิด Isolation แยกเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ออกจากแหล่งจ่ายพลังงานและป้องกันการเชื่อมต่อพลังงานโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับเครื่องจักร ขณะมีการซ่อมบำรุง ซ่อมแซม หรือทำความสะอาดเครื่องจักร หรืออุปกรณ์นั้นๆ 

        โดยระบบล็อก Lock out คือการล็อกอุปกรณ์ที่ควบคุมแหล่งพลังงานต่างๆ ซึ่งพนักงานที่ผ่านการอบรม Lockout Tag out จะทราบดีว่าเป็นการสร้างความมั่นใจว่าพลังงานได้ถูกแยกไปแล้วอยู่ในการควบคุมให้หยุดทำงานไปจนกว่าจะเสร็จกระบวนการ  ส่วนการแขวนป้าย Tag out คือ เป็นการแขวนป้ายบนอุปกรณ์ตัดแยกพลังงานโดยจะต้องทำงานพร้อมกันกับระบบล็อก ถึงได้เรียกว่า LOTO โดยป้ายทะเบียนนี้จะเป็นตัวบอกว่าตอนนี้พลังงานกลไลของเครื่องจักรนั้นได้หยุดทำงานลงไปแล้ว จนกว่าจะเอาป้ายออก

•  เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย (Personal Protective Devices (PPP) หรือ Personal Protective Equipment (PPE) หมายถึง อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในการสวมใส่ขณะปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลหรือป้องกันอันตรายเพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากหนักให้เป็นเบาได้ เช่น ถ้าใช้เครื่องมืออุปกรณ์ความปลอดภัยก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการทำงานมากกว่าเดิมการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีในการป้องกันอันตรายจากการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการป้องกันและควบคุมที่สภาพและสิ่งแวดล้อมของการทำงานก่อนโดยการแก้ไขปรับปรุงทางวิศวกรรมการกั้นแยกไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นหรือการใช้เซฟการ์ดแบบต่างๆหรือการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเปลี่ยนขั้นตอนหรือวิธีการทำงานส่วนในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็จะนำกลวิธีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายมาใช้ประกอบด้วยเพื่อช่วยป้องกันอวัยวะของร่างกายในส่วนที่ต้องสัมผัสงานมิให้ประสบอันตรายจากภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะทำงาน

 

บทความโดย

นายสงัด   พิรมทอง

 • ที่ปรึกษามาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฯ (สสปท)
 • นักบริหารความปลอดภัยขั้นสูง รุ่น 4
 • วิทยากรความปลอดภัยในการทำงาน
 • หัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยฯ บริษัท ไพฑูรย์กล่องกระดาษ จำกัด

 

เข้าชม 6828 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 08 กุมภาพันธ์ 2567 10:36

บทความที่ได้รับความนิยม