This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 29 กุมภาพันธ์ 2567 09:36

อันตรายจากความร้อน

       ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ดังนั้นสภาพอากาศโดยทั่วไปค่อนข้างร้อนตลอดทั้งปี เราจึงคุ้นเคยกับสภาพอากาศที่ร้อน ยิ่งในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน อากาศจะร้อนมากเป็นพิเศษ และเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในแต่ละปี ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีแหล่งกำเนิดความร้อนจากเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตที่มีความร้อน ยิ่งต้องเผชิญกับความร้อนมากขึ้นอีก และอาจเป็นอันตรายเนื่องจากความร้อนในสภาวะการทำงานได้ ประเภทของอุตสาหกรรมที่มีความร้อนสูง เช่น อุตสาหกรรมหล่อหลอมโลหะและอโลหะ อุตสาหกรรมผลิตเซรามิค อุตสาหกรรมผลิตเครื่องแก้ว อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเบเกอรี่ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง เป็นต้น

  กลไกควบคุมความร้อน   

          การเจ็บป่วยเนื่องจากความร้อนเกิดขึ้นเมื่อกลไกการระบายความร้อนภายในร่างกายของคนเราทํางานไม่ถูกต้องตามหน้าที่จากการที่เราทำงานในที่มีอากาศร้อนหรือได้รับความร้อนโดยตรง ทําให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น ลมแดด หน้ามืด อ่อนเพลีย หมดสติ ซึ่งภายในสมองของเราที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (hypothalamus) จะทําหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิและกลไกการไหลเวียนของของเหลว การระบายความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายไว้ให้คงที่ 98 องศาฟาเรนไฮต์ (37 องศาเซลเซียส) ถ้าอุณหภูมิภายในร่างกายสูงเกินไป ไฮโปทาลามัสจะทำให้เลือดไหลเวียนออกมาที่ผิวของร่างกาย ต่อมเหงื่อจะระบายของเหลวออกมามากขึ้น เพื่อระบายความร้อน ทําให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้เลือดไหลเวียนมากขึ้นด้วย

  อันตรายเนื่องจากความร้อน  

           การสัมผัสกับความร้อนเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ การเจ็บป่วยที่พบได้มากคือการเป็นลมหมดสติ การเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น เป็นตะคริว อ่อนเพลียเพราะความร้อน เป็นต้น

   ปัจจัยที่ทําให้เกิดการเจ็บป่วย  

สาเหตุที่ทําให้เกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานที่มีสภาวะแวดล้อมมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ

• มีอุณหภูมิและความชื้นสูงด้วยการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง และไม่มีการระบายอากาศหรือลมพัด

• ดื่มน้ำน้อย

• ทํางานที่ต้องใช้พลังงานมาก

• สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้น้อย

• ไม่เคยชินกับการทำงานในที่มีอากาศร้อนมาก

ลักษณะอาการที่เกิดจากความร้อน ได้แก่ ปวดหัว เวียนศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย เหงื่อออก กระหายน้ำและอาจอาเจียน

   การป้องกันการเจ็บป่วยเนื่องจากความร้อน  

• อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากความร้อนที่อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ และการป้องกันอันตรายจากความร้อน

• จัดให้มีนํ้าเย็นและกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานดื่มน้ำบ่อย ๆ ในระหว่างปฏิบัติงานที่มีอากาศร้อน อย่างน้อย 1 แก้ว ทุก 20 นาที

• จัดให้มีช่วงเวลาพักให้บ่อยกว่าการทำงานในสภาพปกติและบริเวณที่พักมีสภาพอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อน พร้อมจัดหาน้ำให้ดื่ม

• พิจารณาให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

• จัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสความร้อนโดยตรง

   กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  

        กฎกระทรวง กําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 ได้กำหนดมาตรฐานระดับความร้อนที่จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานที่ต้องทำงานในสภาวะการทำงานที่มีอุณหภูมิสูงไว้ ดังนี้

  ลักษณะงาน

การเผาผลาญพลงงานในร่างกาย
กิโลแคลอรี่/ชั่วโมง

ระดับความร้อน(WBGT)

  งานเบา

  น้อยกว่า 200

34

  งานหนักปานกลาง

  200 – 350

32

  งานหนัก

  มากกว่า 350

30



   การป้องกันอันตรายจากความร้อน   


• ต้องมีความรู้เกี่ยวกับสัญญาณหรืออาการที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยเนื่องจากความร้อน

• ป้องกันไม่ให้สัมผัสกับความร้อนหรือแสงแดดโดยตรง

• ดื่มน้ำมาก ๆ และบ่อย ก่อนที่จะรู้สึกกระหาย

• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน

• สวมเสื้อผ้าที่มีนํ้าหนักเบา ใส่แบบหลวม และมีสีอ่อน

• หลีกเลี่ยงให้บุคคลที่มีสภาพรางกายไม่สมบูรณ์ เช่น มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นหวัด และมีไข้

• มีการระบายอากาศที่ดีและลดความชื้นในอากาศ

 

บทความโดย : ประสาท รักพาณิชสิริ

เข้าชม 9957 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 29 กุมภาพันธ์ 2567 11:08

บทความที่ได้รับความนิยม