This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567 15:06

แร่ใยหิน กับ โรคร้าย ภัยคุกคามสุขภาพและชีวิต

          “แร่ใยหิน” หรือ “แอสเบสตอส” (asbestos) สิ่งนี้ได้ยินกันมาอย่างยาวนาน และหลายคนคงคุ้นหูอยู่ไม่น้อย เพราะกว่า 18 ปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้หยุดใช้และลดการนำเข้าแร่ใยหิน แต่ใครจะรู้ว่าปัจจุบันนี้ เรายังคงใช้ชีวิตอยู่กับแร่ใยหินอย่างใกล้ชิด เสียชีวิตไม่ต่างกับการสูบบุหรี่

         เมื่อเราได้รับใยหินเข้าในร่างกายในปริมาณที่มากพอ ก็จะก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายตามมา ซึ่งความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับแอสเบสตอส จะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

•  เยื่อหุ้มปอดอักเสบ และ เยื่อหุ้มปอดมีสารน้ำ (pleurisy and pleural effusion) เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระยะแรกเริ่ม เมื่อได้รับใยหินเข้าไปในร่างกาย ทำให้มีอาการเจ็บเยื่อหุ้มปอด อาจมีไข้ต่ำ และหอบเหนื่อย

•  ปื้นใยหิน (pleural plaque) เกิดจากการหนาตัว ของเยื่อหุ้มปอด ที่มีขอบเขตชัดเจน อาจจะไม่ค่อยเกิดอาการอย่างชัดเจน และไม่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพปอด

•  เยื่อหุ้มปอดหนา (diffuse pleural thickening) เป็นความผิดปกติคล้ายกับปื้น เยื่อหุ้มปอด เชื่อว่าเป็นผลต่อเนื่องจากการเกิดสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาก่อน ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพปอด มักพบบริเวณส่วนกลางและส่วนล่างของปอด

•  ปอดแฟบกลม (round atelectasis) หรือทบปอด (folded lung) เป็นผลต่อเนื่องจากแผ่นเยื่อหุ้มปอดหนา กว้างตลบเข้าไปรัดเนื้อปอดบางส่วนไว้ ทำให้มีลักษณะเป็นก้อนกลม

         แร่ใยหินก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลากหลาย โดยเฉพาะกับ “โรคปอด” ซึ่งการตรวจพบภาวะเยื่อหุ้มปอดเหล่านี้ อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า เราได้รับใยหินเข้าไปในร่างกายแล้ว และมีโอกาสกลายเป็นโรคปอดใยหิน (แอสเบสโทสิส) ต่อไปในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินในระยะเวลานาน ๆ เช่น

 

 

 

โรคปอดอักเสบจากใยหิน หรือ แอสเบสโตซิส (asbestosis)

         โรคที่เกิดจากการสูดหายใจเอา เส้นใยหินเข้าไปในปอดเป็นระยะเวลานานและมีปริมาณมากพอ จนทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดแล้วตามด้วย ภาวะปอดเนื้อพังผืด (diffuse interstitial fibrosis) โดยผู้ป่วยมักมีประวัติสัมผัสใยหินเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี และส่วนใหญ่มีอาการหอบเหนื่อยเวลาออกแรง  ซึ่งในบางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย และในรายที่โรครุนแรงอาจจะมีอาการไอแห้ง ๆ เกิดขึ้นได้

 

โรคมะเร็งปอด (lung cancer)

         อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด คือ การสัมผัสใยหินเป็นเวลานาน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดมะเร็งปอดทั้งในคนที่สูบและไม่สูบบุหรี่ โดยในคนที่สูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น

 

“เนื้องอกเยื่อเลื่อม” หรือ “เมโสเธลิโอมา”

         จัดเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง โดยเฉพาะหากผู้ป่วยเป็นที่เยื่อหุ้มปอด ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอก และตรวจพบสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และเยื่อหุ้มปอดหนา หรือเป็นก้อน โดยความเสี่ยงของโรคขึ้นอยู่กับปริมาณเส้นใยหินในอากาศแวดล้อม ร่วมกับระยะเวลาที่สัมผัสต่อเนื่อง

 

บทบาทของ WHO กับโรคมะเร็งปอดจากแร่ใยหิน

         ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกไม่เคยนิ่งนอนใจกับภัยร้ายจากแร่ใยหิน ที่คุกคามชีวิตมนุษย์ไปหลายแสนชีวิต โดย IARC (International Agency for Research on Cancer) หน่วยงานหนึ่งภายใต้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เข้ามามีบทบาทในการประเมินสารเคมีหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งได้ระบุใน IARC monograph 100C เอาไว้ว่า “แร่ใยหินทุกชนิดรวมถึง Chrysotile เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนจากการวิจัยในมนุษย์ว่าก่อให้เกิดมะเร็ง โดยมีอย่างน้อย 2 งานวิจัยที่ทำการศึกษาเฉพาะแร่ใยหิน Chrysotile กับมะเร็งในคน และพบว่าแร่ใยหิน Chrysotile มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในคน”

         นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุใน World Health Assembly resolution 60.26 ให้ดำเนินการรณรงค์ทั่วโลกเพื่อกำจัดโรคจากแร่ใยหิน โดยมีกลยุทธ์การดำเนินการ คือ

1)  การยุติการใช้ใยหินทุกชนิด ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

2)  ดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหิน

3)  ดำเนินการใช้มาตรการป้องกันการรับสัมผัสแร่ใยหินระหว่างการผลิต การใช้ และการรื้อถอน

4)  พัฒนาการคัดกรอง วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูทางการแพทย์และทางสังคมสำหรับโรคจากแร่ใยหิน และจัดทำทะเบียนคนที่รับสัมผัสแร่ใยหินทั้งในอดีตและปัจจุบัน

         ดังนั้นทั่วโลกจึงมีความเห็นว่า การห้ามใช้แร่ใยหินทุกประเภท เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้คนได้รับสัมผัสแร่ใยหิน ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ใยหินในอนาคต จึงรณรงค์การยกเลิกการใช้แร่ใยหินดังกล่าวในที่สุด

 

ข้อมูลอ้างอิง 

•  บทความ ใยหินไครโซไทล์กับสุขภาพ, แร่ใยหินกับสุขภาพ โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

•  บทความ โรคปอดเหตุใยหิน โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

เข้าชม 3111 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567 15:44

บทความที่ได้รับความนิยม