This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 22 เมษายน 2567 09:04

มหันตภัย “แร่ใยหิน” คร่าชีวิตได้อย่างคิดไม่ถึง

หลายคนอาจคิดว่าที่อยู่อาศัย เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับครอบครัว เพราะอาจมีเครื่องฟอกอากาศ ทำให้รอดพ้นจากฝุ่น PM2.5 มีสาธารณูปโภคที่ครบครันไม่เป็นอันตราย แต่ในบางครั้งภัยร้ายก็อยู่ใกล้ชิดเราโดยที่ไม่รู้ตัว

         ถ้าพูดถึง แร่ใยหิน” หรือ “แอสเบสตอส” (asbestos) ลองหาข้อมูลก็จะพบว่าเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของแร่อนินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก คือ ไฮดรัสซิลิเกต มีลักษณะเป็นเส้นใย และมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทานต่อความร้อน และสารเคมี ส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้าง อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยชนิดของแร่ใยหินมีมากกว่า 30 ตัวด้วยกัน แต่ที่มักจะนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมแค่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเซอร์เพนไทน์ ได้แก่ ไครโซไทล์ และ กลุ่มแอมฟิโบล ได้แก่ ครอคซิโดไลท์ อะโมไซท์ แอนโทฟิไลท์ ทริโมไลท์ และแอคทิโนไลท์

         ประเทศไทยไม่มีเหมืองแร่ใยหิน ดังนั้นวัตถุดิบที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ นำมาใช้ จึงมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยนำเข้ามามากกว่า 40 ปี และเรียกได้ว่าเป็นประเทศแนวหน้าที่มีการนำเข้าใยหิน ซึ่งปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะ ไครโซไทล์ เท่านั้น โดยการใช้ประโยชน์ของแร่ใยหิน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ใช้ในงานก่อสร้าง ทำท่อซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ร้อยละ 8 ใช้ในการทำผ้าเบรคและคลัทช์ ร้อยละ 2 ใช้ในการผลิตกระเบื้องปูพื้น วัสดุกันไฟหรือกันความร้อน

 

  แร่ใยหินอันตรายใกล้ตัวที่คุณอาจไม่เคยรู้  

         มีการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ใยหินทุกชนิดรวมถึงไครโซไทล์ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการได้รับสัมผัสใยหินจะก่อให้เกิดโรคหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด แอสเบสโตสิส (พังผืดในปอด) หินปูนเกาะเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดหนา และน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดมะเร็งกล่องเสียงและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้

         การได้รับสัมผัสใยหินโดยมากมักผ่านทางการหายใจและการกินเข้าไป โดยเฉพาะในปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ได้รับทางการหายใจใยหินที่ปนเปื้อนในอากาศเป็นหลัก นอกจากนี้ อาจได้รับส่วนน้อยทางการดื่มน้ำที่มีใยหินปนเปื้อนจากการสลายตัวของใยหินตามธรรมชาติ แหล่งทิ้งขยะใยหิน หรือท่อซีเมนต์ใยหินที่มีการเสื่อมสภาพ ครอบครัวของคนที่ทำงานสัมผัสใยหินสามารถรับสัมผัสจากใยหินที่ติดตามผมหรือเสื้อผ้าของคนที่ทำงานมาที่บ้าน

         นอกจากนี้ผู้ที่ทำงานสัมผัสใยหินโดยตรง จะได้รับผ่านทางการหายใจเป็นส่วนมาก และทางการกินเป็นส่วนน้อย กลุ่มที่ทำงานสัมผัสกับใยหิน เช่น คนงานเหมืองแร่ใยหิน คนงานโรงงานผลิตใยหิน คนงานอุตสาหกรรมที่ใช้ใยหินเป็นวัตถุดิบ คนงานก่อสร้างที่ต้องตัดเจียรกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น หรือรื้อถอนอาคารที่มีวัสดุที่มีใยหินเป็นส่วนประกอบ คนงานอุตสาหกรรมรถยนต์ ช่างยนต์ในขณะเปลี่ยนผ้าเบรคหรือคลัทช์ คนงานที่ทำหน้าที่จัดการขยะที่มีใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น

  จุดยืนสังคมไทยไร้แร่ใยหิน  

         กว่า 13 ปีที่ผ่านมา มีมติเกี่ยวกับมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน* เพื่อสุขภาพของประชาชนไทยทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 โดยมีมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินด้วยการบริหารจัดการ การฟุ้งกระจายของแร่ใยหินในวัสดุต่าง ๆ ที่หมดอายุการใช้งานในชุมชน และส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อผลิตผลงานผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย

         นอกจากนี้ยังมีแนวทางการบริหารจัดการความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ โดยห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์เฉพาะกรณี และห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ ที่ใช้วัตถุดิบอื่นหรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิด รวมถึงทางกระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ไปศึกษาผลกระทบของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินและผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน

         *มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2553

 

  ป้องกันตนเอง ห่างไกลแร่ใยหิน  

         ถึงแม้จะมีการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแร่ใยหิน และใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา เมื่อต้องทำงานกับใยหิน รวมถึงทำความสะอาดพื้นที่ที่มีใยหินอย่างถูกวิธีแล้วนั้น ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันอันตรายจากแร่ใยหิน ท้ายที่สุดแล้วการเลิกใช้ใยหิน อาจเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินที่ดีที่สุด เพราะหากหยุดการใช้แร่ใยหินเป็น 0% เมื่อไหร่ ประชากรบนโลกก็จะลดความเสี่ยงจากโรคปอด มะเร็งปอด และมหันตภัยจากแร่ใยหินได้

 

ข้อมูลอ้างอิง 

•  บทความ ใยหินไครโซไทล์กับสุขภาพ, แร่ใยหินกับสุขภาพ โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

•  บทความ โรคปอดเหตุใยหิน โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

เข้าชม 1294 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 22 เมษายน 2567 11:32

บทความที่ได้รับความนิยม