This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 12 กรกฎาคม 2567 15:39

ความปลอดภัยในสถานพยาบาล

โรงพยาบาลเปรียบเสมือนโรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลต้องทำงานสัมผัสกับความเสี่ยงหรือสิ่งคุกคามสุขภาพหลายประเภท ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้:

1. ความเสี่ยงทางชีวภาพ

•  การติดเชื้อจากเชื้อก่อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต ที่อาจพบได้จากผู้ป่วยหรือสิ่งส่งตรวจทางการแพทย์

•  การสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำลาย ที่อาจมีเชื้อก่อโรคปนเปื้อน

2. ความเสี่ยงทางกายภาพ

  การบาดเจ็บจากการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เข็มฉีดยา มีดผ่าตัด

•  การสัมผัสกับรังสีจากเครื่อง X-ray หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้รังสีอื่นๆ

3. ความเสี่ยงทางเคมี

•  การสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ สารทำความสะอาด ยาเคมีบำบัด

•  การสูดดมก๊าซหรือไอระเหยจากสารเคมีที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

4. ความเสี่ยงทางการยศาสตร์

•  การยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หลังส่วนล่างและกล้ามเนื้อ

•  การทำงานที่ต้องนั่งหรือยืนในท่าเดียวกันเป็นเวลานานๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพกระดูกและกล้ามเนื้อ
  

5. ความเสี่ยงทางจิตวิทยาและสังคม

•  ความเครียดจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันสูง เช่น การต้องตัดสินใจรวดเร็วในการช่วยชีวิตผู้ป่วย

•  การเผชิญกับสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การเสียชีวิตของผู้ป่วย ความรุนแรงหรือการคุกคามจากผู้ป่วยหรือญาติ

6. ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม

•  การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดเสียงดังอย่างต่อเนื่อง

•  การทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น พื้นลื่น พื้นที่แคบ

 

  เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง  

ต่อสุขภาพและเพิ่มความปลอดภัยในสถานพยาบาล

จึงจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการระบบงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาล ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากมีผลโดยตรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ และประชาชน ดังนี้ :

        1. ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงาน เนื่องด้วยสถานพยาบาลเป็นสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เช่น การลื่นพลัดตกหกล้ม การถูกเข็มทิ่มตำและของมีคมบาด การสัมผัสกับสารเคมีหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่เป็นอันตราย การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน

        2. ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อก่อโรค : บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานสัมผัสกับสิ่งคุกคามทางชีวภาพ ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อก่อโรคจากผู้ป่วยหรือจากการทำงานกับสิ่งส่งตรวจที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค การจัดการอาชีวอนามัยที่ดีช่วยให้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสม การล้างมืออย่างถูกวิธี และการจัดการกับของเสียอันตรายที่รัดกุม

        3. ส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี: การทำงานในสถานพยาบาลอาจมีความเครียดสูงจากภาวะวิกฤติของผู้ป่วยที่มารับการรักษา ชั่วโมงการทำงานที่ไม่เหมาะสม การจัดการอาชีวอนามัยจึงควรคำนึงถึงการให้การสนับสนุนทางจิตใจแก่บุคลากร เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น

        4. สร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและเป็นระเบียบ: สถานพยาบาลที่มีการจัดการที่ดีจะมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นระเบียบ ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

        5. การปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐาน: การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการให้บริการที่มีคุณภาพและได้รับการรับรอง

      ดังนั้น การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากร ผู้ป่วย ประชาชน และสิ่งแวดล้อม ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

 

บทความโดย

นายสุวัฒน์  สุขสวัสดิ์ 

อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาล
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

เข้าชม 6409 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันศุกร์, 12 กรกฎาคม 2567 16:09

บทความที่ได้รับความนิยม