ด้วยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีอัตราการเกิด (Fertility Rate) ลดลง ตรงข้ามกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่งผลให้สังคมโลกเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) จากการสำรวจจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีจำนวนมากถึง 12 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีการสำรวจความต้องการในการทำงานของกลุ่มแรงงานหลังเกษียณ ช่วงอายุตั้งแต่ 60 – 80 ปี พบว่า กว่าร้อยละ 28.4 ยังคงมีความต้องการที่จะทำงานต่อในวัยเกษียณ โดยแนวโน้มของกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการในการประกอบอาชีพมากที่สุด ได้แก่ เกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง ขายส่ง/ปลีก และการซ่อมยานยนตร์ โดยผู้สูงอายุที่ทำงานเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลทั้งด้านสวัสดิการ และสวัสดิภาพความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว และยังเป็นการสร้างแรงจูงใจส่งเสริมคุณค่าของการใช้ชีวิตอีกด้วย
ด้วยผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกาย สรีรวิทยา รวมไปถึงจิตใจส่งผลต่อความสามารถในการทำงานและความปลอดภัยในการทำงานของผุ้สูงอายุ โดยการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจที่ผู้สูงอายุอาจต้องเผชิญ อาทิเช่น การพลัดตกหกล้ม ภาวะสมองเสื่อม สับสน สูญเสียความทรงจำ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง การเดินที่ช้าลง ประสาทสัมผัส หู ตา จมูก เสื่อมลง ระบบขับถ่ายผิดปกติ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือความเครียด จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ผู้สูงอายุอาจต้องเผชิญกับปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน โดยแบ่งออกเป็น การทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Act) เป็นการกระทำที่ไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition) สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยโดยรอบตัวของผู้ปฏิบัติงาน
ความไม่ปลอดภัยในการทำงานดังกล่าว เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือความไม่ปลอดภัยในการทำงานของแรงงานผู้สูงอายุ และสภาพแวดล้อมในการทำงานของผู้สูงอายุ ในภาพรวมเราสามารถจำแนกปัจจัยคุกคามทางความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของแรงงานผู้สูงอายุ ออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ปัจจัยคุกคามทางกายภาพ (Physical Hazard)
ปัจจัยคุกคามที่เป็นสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ได้แก่ ความเย็น ความร้อน เสียงดัง ความกดดันบรรยากาศ แสงสว่าง ความสั่นสะเทือน รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งบริเวณสถานที่ทำงาน ตัวอย่างของสิ่งคุกคามทางกายภาพที่ทำให้คนเจ็บป่วย เช่น อุณหภูมิที่ร้อนเกินไปทำให้คนทำงานเป็นลมหมดสติได้ เสียงที่ดังเกินไปทำให้คนทำงานหูตึงได้ เป็นต้น - ปัจจัยคุกคามทางเคมี (Chemical Hazard)
ปัจจัยคุกคามที่เป็นสารเคมีทุกชนิด อาจอยู่ในสถานะแก๊ส ของเหลว ของแข็ง ธาตุ และที่เป็นสารประกอบสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ หากผู้ปฏิบัติงานรับสัมผัสจะสามารถทำให้เกิดอัตรายต่อสุขภาพได้ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรพ่นยาฆ่าแมลงเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เป็นต้น - ปัจจัยคุกคามทางชีวภาพ (Biological Hazard)
ปัจจัยคุกคามที่เป็นสิ่งมีชีวิตทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ได้แก่ แมลงหรือสัตว์ก่อโรค เชื้อจุลินทรีย์ รวมทั้งเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งของสิ่งมีชีวิต ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ เช่น เชื้อวัณโรค เชื้อโรคบิด เชื้ออหิวาห์ เชื้อมาลาเรีย เป็นต้น - ปัจจัยคุกคามทางการยศาสตร์ (Ergonomics Hazard)
คือสภาวการณ์ใดๆ ที่เกิดจากความไม่สัมพันธ์กันระหว่างเครื่องจักร อุปกรณ์ สถานีงาน และอื่นๆ กับผู้ปฏิบัติงาน ที่ทำให้ความไม่สะดวกสบาย ติดขัด เกิดอาการปวดเมื่อย หรือประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่น การทำงานในที่แคบ การที่ต้องเอี้ยวตัวยกของ การที่ต้องยกของหนัก การทำงานซ้ำๆ การที่ต้องเพ่งสายตามองแสงจ้าเป็นเวลานานๆ การทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ เป็นต้น - ปัจจัยคุกคามทางจิตใจ (Psychosocial Hazard)
สภาวการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจ หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือในสังคม ของผู้ที่ทำงานอยู่ในสภาวการณ์นั้น ๆ เช่น งานที่ทำไม่เป็นเวลาต้องอดหลับอดนอน งานที่มีปัญหาสังคมภายในที่ทำงาน งานที่มีความกดดันจากผู้ร่วมงาน เป็นต้น - ปัจจัยคุกคามทางสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Hazard)
สภาวการณ์ที่มีโอกาสทำให้คนทำงานเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกาย พิการ หรือเสียชีวิตได้ เช่น การทำงานกับของแหลมคม การทำงานในที่สูง การทำงานกับไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น
จากปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยคุกคามที่กล่าวมานั้น สสปท. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน OSH Self-Screening System for prepare to elderly worker ระบบประเมินความปลอดภัยด้วยตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่แรงงานผู้สูงอายุอย่างปลอดภัย เพื่อให้แรงงานผู้สูงอายุสามารถประเมินตนเอง รู้ความเสี่ยงที่ตนเองต้องเผชิญ รวมไปถึงได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยตามปัจจัยเสี่ยงที่ตนเองมีความเสี่ยง โดยแอปพลิเคชันนี้เหมาะกับผู้ปฏิบัติงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ที่มีความสนใจและต้องการที่จะทำงานต่อหลังจากการเกษียณอายุงาน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นแรงงานผู้สูงอายุก็สำคัญ โดยสามารถลองประเมินความเสี่ยงนี้ได้ด้วยตนเอง หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม หรือกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในแรงงานผู้สูงอายุ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนา สสปท. โทรศัพท์ 0 2448 9111 ต่อ 603 หรืออีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.