This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันอังคาร, 19 พฤศจิกายน 2567 11:41

จัดการความปลอดภัยอย่างไรในสายงานขนส่ง

        หากพูดถึงสายงานด้านความปลอดภัย เราจะเห็นภาพในสายงานด้านอุตสาหกรรม หรืองานก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งอีกลักษณะการประกอบธุรกิจที่เราเห็นอยู่ทุกวันบนท้องถนน ก็คือสายงานด้านการขนส่งหรือธุรกิจประเภทโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะทั้งธุรกิจรายเล็กหรือรายใหญ่ ทำให้เราเห็นรถขนส่งเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตนั้นย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงและอันตรายอีกมากมายที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นด้วยเช่นกัน หากถามว่าความปลอดภัยในสายงานการขนส่ง หรือพูดง่ายๆ คือการขับรถขนส่งสินค้าจะมีเพียงใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วนั้นจะสามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการประสบอันตรายแก่บุคลากรทั่วไปได้
ถ้าเรามองสถิติการประสบอันตรายบนท้องถนนย้อนกลับไป คงตอบได้เลยว่าไม่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากยังมีปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เพื่อนร่วมทาง สภาพถนนหรือสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่เราไม่สามารถควบคุมและป้องกันได้จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้กระบวนการทำงานขนส่งเกือบ 90% เป็นการปฏิบัติงานนอกพื้นที่ของสถานประกอบการตนเอง ไม่เหมือนกับภาคอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ขอบเขตชัดเจนที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเองสามารถเข้าไปจัดการควบคุม และแก้ไขป้องกันภายในขอบข่ายพื้นที่ตนเอง แต่การจัดการความปลอดภัยในสายงานขนส่งไม่ง่ายนักเพราะเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต้องเข้าไปจัดการและแก้ไขป้องกันเกี่ยวกับการบริหารคนและยานพาหนะขนส่งภายนอกสถานประกอบการ รวมทั้งตลอดเส้นทางขนส่ง โดยที่ไม่สามารถมุ่งจัดการที่แหล่งกำเนิดเพียงอย่างเดียว

        ดังนั้น การจัดการความปลอดภัยในสายงานด้านขนส่ง จึงต้องมีแนวทางการป้องกัน ตั้งแต่กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคน การสำรวจเส้นทางเพื่อหาจุดเสี่ยงต่าง ๆ ตลอดเส้นทางเดินรถ ก่อนการปฏิบัติงาน การฝึกอบรมและสื่อสารให้ความรู้ความสามารถ และทักษะอื่น ๆ นอกเหนือจากการขับรถขนส่งแล้ว เช่น ความสามารถและชำนาญในการขับรถยกอย่างปลอดภัย (Safety Forklift Operator) ในการเคลื่อนย้ายสินค้าขึ้นและลงจากรถขนส่ง เป็นต้น ดังนั้น สำหรับหน่วยงานความปลอดภัยที่อยู่ในสายงานขนส่งเป็นหลัก ต้องสร้างระบบจัดการด้านความปลอดภัยตั้งแต่ตัวพนักงานขับรถ ระบบการติดตามพฤติกรรมความปลอดภัยในการขับรถของพนักงานตลอดการปฏิบัติงาน ดังนิยามที่ผู้บริหารขององค์กรได้ให้ไว้ “พนักงานของเราทุกคนต้องขับรถกลับบ้านโดยปลอดภัย”“รถพร้อม คนพร้อม” ซึ่งขั้นตอนเรานี้ พนักงานสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

 

  การเตรียมความพร้อมก่อนรับงาน  

         หลังจากได้มอบหมายงานการขนส่งสินค้า บริษัทและทีมงานความปลอดภัย ต้องทำการสำรวจเส้นทางเดินรถ เพื่อหาจุดเสี่ยงตลอดเส้นทาง และวิเคราะห์พร้อมบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนจะปล่อยงานให้กับพนักงานขับรถไปปฏิบัติงาน เพื่อที่เราจะใช้ในการเน้นย้ำพนักงานขับรถก่อนปล่อยงานออกไปถึงข้อปฏิบัติและข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัย เช่น จุดกลับรถ เส้นทางร่วม ทางแยก ถนนที่กำลังก่อสร้าง ระยะความสูงของสายไฟและสิ่งกีดขวางตามปั๊ม หรือ โรงงานของลูกค้า/พื้นที่รับ-ส่งสินค้า รวมทั้งความกว้างของประตู เป็นต้น

  การเตรียมความพร้อมของพนักงานขับรถ  

         ความพร้อมของพนักงานขับรถ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการดำเนินงานด้านขนส่ง ดังนั้น ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน พนักงานทุกคนต้องเข้าจุดเช็คความพร้อมของร่างกาย โดยจะมีหัวหน้างานคอยตรวจสอบตั้งแต่ การวัดอุณหภูมิ การวัดความดันเพื่อป้องกันการวูบขณะขับรถ การวัดระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย การสัมภาษณ์ในเชิงการพักผ่อน เพื่อดูความกระตือรือร้นและป้องกันการหลับในของพนักงานขับรถ การเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ Small talk เพื่อป้องกันการละสายตาในขณะขับรถ และสถานะของใบขับขี่พร้อมบันทึกลงโปรแกรมการตรวจติดตามพฤติกรรมของพนักงานขับรถ เพื่อให้หัวหน้างานสามารถตรวจสอบประวัติพนักงานได้ตลอดเวลา และสามารถตัดสินใจในการปล่อยงานให้ขับรถในแต่ละครั้ง

  การเตรียมความพร้อมของรถ หรือยานพาหนะที่ใช้ในการขับขี่  

         พนักงานต้องตรวจสอบความพร้อมของรถเพื่อไม่ให้ไปเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างขับขี่ เช่น ดอกยางและสภาพของล้อรถระบบลม ระบบสัญญานไฟแสงสว่างของรถขนส่ง รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ประจำบนรถ และจะมีการยืนยันความพร้อมของรถโดยหัวหน้างานอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนที่จะมีการนำารถออกไปจากสถานประกอบการ เป็นต้น

  การติดตามพฤติกรรมของพนักงานขับรถ  

         หลังจากได้ปล่อยรถขนส่งและพนักงานขับรถออกไปปฏิบัติงานบนท้องถนนแล้วนั้น ต้องมีทีมงานในการติดตามด้วยระบบ GPS ที่สามารถควบคุม ตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถ และสามารถแจ้งเตือนมายังศูนย์ควบคุมเพื่อให้กลับมาอยู่ในมาตรฐาน และมีความปลอดภัยตลอดเส้นทางการปฏิบัติงาน

  การตรวจสอบ หรือการวิเคราะห์หาสาเหตุ กรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุฉุกเฉินขึ้น  

         และท้ายสุดที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต้องทำ คือในทุก ๆ ประเภทธุรกิจ คือการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ การลงตรวจสอบพื้นที่จริง พร้อมการหาหลักฐานต่าง ๆ ทั้งจากกล้องติดรถ หรือ แม้แต่กล้องสาธารณะต่าง ๆ ที่ทีมงานด้านความปลอดภัยจะหาได้ เพื่อนำามาประกอบใช้ในการค้นหาสาเหตุหลักเพื่อที่จะใช้สร้างและวางแผนการควบคุมและแนวทางการป้องกันตรงประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำในกิจกรรมนั้น ๆ ต่อไป

 

บทความโดย

•  ศักย์วริศ พลอยประดับ  ผู้จัดการแผนกประกันคุณภาพ

เข้าชม 1373 ครั้ง

บทความที่ได้รับความนิยม