This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 10 กุมภาพันธ์ 2568 07:26

แรงงาน กับ ROBOT

เหตุใดหุ่นยนต์ (Robot) และระบบอัตโนมัติ (Automation System) จึงเป็นอนาคตของกระบวนการผลิต คำถามนี้...ทำให้ต้องมาค้นหาคำตอบว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotic) มีประโยชน์ต่อกระบวนการผลิต ดังต่อไปนี้

• ทำงานได้เร็ว (ทำความเร็วในเวลาที่กำหนด)

• ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เหน็ดเหนื่อย (สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงทุกวัน)

• สามารถเลือกโปรแกรมหุ่นยนต์ที่ตอบโจทย์การทำงานได้ โปรแกรมหุ่นยนต์มีความยืดหยุ่นในการทำงาน

• ทำงานที่เสี่ยงอันตรายที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้

• ทำงานได้อย่างแม่นยำ ทำงานตามคำสั่งที่ถูกป้อนลงในโปรแกรมตามที่ได้รับมา

• มีข้อผิดพลาดในการทำงานน้อยหรือไม่มีเลย

• ประหยัดเวลา (ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการตั้งค่าของผู้ใช้งาน)

• ลดต้นทุนด้านค่าแรงแรงงาน (ตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานหรือลดจำนวนแรงงานลง)

• ทำงานได้ทั้งแบบวนลูปและตามสถานการณ์

• ใช้เวลาน้อยในการติดตั้ง

• ใช้พื้นที่ในการทำงานน้อยลง

• ยกระดับไลน์การผลิต

 

         ในฐานะแรงงานแล้ว เมื่อได้อ่านทั้ง 12 ข้อข้างต้น กระบวนการผลิตที่มีการลงทุนกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มีหุ่นยนต์มาช่วยในการทำงานและมาช่วยตอบโจทย์การเพิ่มผลผลิตนั้น อาจทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นวิตก กับบทบาทที่มากขึ้นของเทคโนโลยี(หุ่นยนต์)และความล้ำหน้าของเทคโนโลยีเหล่านั้น หากเรา(แรงงาน)ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับการเข้ามาของหุ่นยนต์เอาไว้ล่วงหน้าเลย

          ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคน ทุกส่วนต้องตื่นตัวและจริงจังกับโลกดิจิทัล และ Thailand 4.0 (วิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย : เศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นเทคโนโลยี เน้นทำน้อยแต่ได้มาก) โดยการรับมือเพื่อให้เรา(มนุษย์/แรงงาน)ยังคงสำคัญและเป็นที่ต้องการขององค์กร

 

  แรงงาน  

  • ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เตรียมใจ เตรียมพร้อมที่จะปรับตัวและสนุกสนานไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในชีวิต

  • ฝึกทักษะความชำนาญขั้นสูงเฉพาะด้าน เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเมินผล การคิดแบบ Original Ideas หรือการคิดนอกกรอบที่ยากแก่การเลียนแบบเพราะไม่มีรูปแบบตายตัว รวมถึงทักษะการเจรจาต่อรอง เป็นต้น

  • ทักษะความสามารถในการตรวจสอบ และเลือกใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาหรือรับมือกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน

  • เพิ่มความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ รู้จักการนำเอาเทคโนโลยีหลายอย่างมารวมกันและการประยุกต์โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร

  • ฝึกทักษะทางสังคม (อารมณ์, ความรู้สึก, มารยาททางสังคม, คุณธรรม จริยธรรม และขนบธรรมเนียม ฯลฯ) เพื่อช่วยให้เกิดเครือข่ายที่ดีที่เชื่อมต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกันให้มาสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

  • ติดตามข่าวสาร นวัตกรรม และความรู้ในโลกดิจิทัลอย่างสม่ำเสมอ นำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในด้านการทำงานและการพัฒนาตนเอง

  • กระหายการเรียนรู้และลงมือพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ

  องค์กร  

ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับโลกการทำงานยุคใหม่ เช่น จัดฝึกอบรมด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร รวมถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นทั้ง Reskill และ/หรือ Upskill

 

  ภาครัฐ  

ต้องปรับการศึกษารูปแบบใหม่ เน้นเสริมสร้างความรู้ทางด้านวิชาการควบคู่ไปกับทักษะทางอาชีพที่เด็กและเยาวชนยุคใหม่ควรมี


 

การทำงานกับหุ่นยนต์

มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ 4 แบบ

  1. การกระแทกหรืออุบัติเหตุจากการปะทะ

          การเคลื่อนไหวที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ ความผิดปรกติของการทำงานชิ้นส่วนต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงค่าในโปรแกรมโดยไม่ตั้งใจ ทำให้การทำงานของแขนกลเกิดความผิดพลาดและส่งผลกระทบกับแรงงานได้

  1. อวัยวะเกิดการติดค้าง

          อวัยวะของผู้ปฏิบัติงานสามารถติดค้างอยู่ระหว่างมือจับของหุ่นยนต์หรือชิ้นส่วนอื่น ๆ หากหุ่นยนต์ยังคงทำงานอยู่มีความเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายกับแรงงาน (อวัยวะเสียหาย ฯลฯ)

  1. อุบัติเหตุจากชิ้นส่วนที่เสียหาย

          หากหุ่นยนต์กำลังทำงานแล้วเกิดมีปัญหาชิ้นส่วนพังหรือหลุดกลางคัน เครื่องมือกลหรืออุปกรณ์ที่หุ่นยนต์ถือไว้รวมถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

  1. อุบัติเหตุอื่นๆ

          อุบัติเหตุอื่นๆ เช่น เครื่องมือที่ให้พลังงานกับหุ่นยนต์หรือแรงดันของเหลวต่าง ๆ ชำรุด หรือสิ่งแวดล้อม แสงไฟความสว่างสูงจากการเชื่อมอาร์ค เศษโลหะที่กระจาย ฝุ่น หรือ การก่อกวนจากสัญญาณวิทยุ เป็นต้น

         อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นในสภาวะการทำงานปกติ แต่จะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งโปรแกรม ปรับแต่ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม ทดสอบ ติดตั้ง ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้หลายครั้ง คนปฏิบัติงาน โปรแกรมเมอร์ หรือเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงแก้ไข อาจอยู่ภายในขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์เป็นการชั่วคราว ซึ่งการดำเนินการใดๆโดยไม่ได้ตั้งใจอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

อุบัติเหตุจะสามารถลดลงได้ โดยการรู้แหล่งของอันตราย

แหล่งอันตราย

• ความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Errors) เกิดจากความประมาท ความไม่เข้าใจในกระบวนการทำงานหรือพลั้งเผลอ เช่น ความผิดพลาดจากกรรมวิธีการใช้อุปกรณ์สอนหุ่นยนต์ (Teach Pendant) หรือแผงควบคุมการทำงาน (Control Panel) เป็นต้น

• ความผิดพลาดในการควบคุม (Control Errors) เกี่ยวข้องกับระบบควบคุมของหุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์ หรือความผิดพลาดในการควบคุมการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ

• การเข้าพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต (Unauthorized Access) การเข้าสู่พื้นที่ป้องกันอันตรายของหุ่นยนต์ (Robot’s Safeguarded Area) โดยเฉพาะพนักงานที่ไม่ทราบหรือไม่คุ้นเคย

• ระบบกลไกบกพร่อง/ล้มเหลว (Mechanical Failures) โปรแกรมปฏิบัติการผิดพลาด ส่งผลให้ระบบกลไกทำงานไม่ตรงตามที่ต้องการ และอาจเกิดการทำงานในลักษณะที่ไม่คาดคิด

 สภาพแวดล้อม (Environmental Sources) การรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ

• ระบบกำลัง (Power Systems) แหล่งจ่ายพลังงานต่างๆ เกิดข้อผิดพลาด ทำให้มีการปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ออกมาแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อแรงงาน

• การติดตั้งไม่เหมาะสม (Improper Installation) ทั้งการออกแบบ รูปแบบ ข้อกำหนด ตำแหน่งที่ตั้ง การใช้ประโยชน์ สาธารณูปโภคและอุปกรณ์เพิ่มเติม รวมถึงอุปกรณ์/เครื่องจักรที่ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ถ้าติดตั้งไม่ถูกต้องและปลอดภัยเพียงพอ ก็อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้การออกแบบสถานีทำงานและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสมก็นำมาสู่อันตรายได้เช่นกัน

แล้วดำเนินการควบคุมและป้องกัน

          นอกจาก Robot แล้ว ปัจจุบันยังมี Cobot (Collaborative Robots) ด้วย ซึ่ง Cobot เป็นหุ่นยนต์ชนิดที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้และมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากถูกสร้างขึ้นด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัย ออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับคนทำงานโดยเฉพาะ

เมื่อเลือกใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในองค์กร เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการผลิต เป็นการเพิ่มผลผลิตโดยการลงทุนเพิ่ม (ลงทุนในเทคโนโลยีทันสมัย) แล้ว การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของพนักงาน สำหรับการทำงานร่วมกันของแรงงานกับหุ่นยนต์ ก็เป็นการเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรเช่นกัน

 

ด้วยรักและห่วงใย

จากใจผู้เขียน...โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา

 

เพิ่มเติม...ความหมาย

 • หุ่นยนต์ (Robot) หมายถึง เครื่องจักรกลอัตโนมัติทุกชนิดที่ออกแบบให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ในงานบางประเภท โดยทำงานด้วยคำสั่งเดิมซ้ำๆ ในรูปแบบที่มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นได้ดี สามารถถูกปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้ทำงานได้หลากหลายกว่า และอาจถูกติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้สามารถตัดสินใจเองได้

 • ระบบอัตโนมัติ (Automation System) หมายถึง ระบบหรือกลไกที่สามารถเริ่มทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยทำงานตามโปรแกรมที่วางไว้

.

ข้อมูลอ้างอิงจาก :

[1] https://www.bangkokbiznews.com/advertorials/health/2731 [เข้าถึงเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2564]

[2] นิตยสาร The Knowledge ปีที่ 3 ฉบับที่ 18 เมษายน - พฤษภาคม 2564 ISSN 2539-5882 จัดทำโดย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

[3] https://www.mmthailand.com/ [เข้าถึงเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564]

[4] เอกสารไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ SECTION IV (previously Section III of Oregon OSHA’s Technical Manual) :  CHAPTER 4 INDUSTRIAL ROBOTS AND ROBOT SYSTEM SAFETY

[5] Engineering Today วารสารรายสองเดือนเพื่อความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรม ; https://www.engineeringtoday.net [เข้าถึงเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564]

[6] https://www.depa.or.th/th/article-view/tech-series-robotics-and-automation-system [เข้าถึงเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2564]

เข้าชม 383 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 10 กุมภาพันธ์ 2568 07:48

บทความที่ได้รับความนิยม