หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ก่อนสำรวจอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว โดยทั่วไปผู้สำรวจต้องทำการประเมินความเสียหายขั้นต้นของอาคารทั้งภายนอกและภายในอาคารเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยแบ่งการสำรวจออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้
1.การสำรวจภายนอกอาคาร
การตรวจสภาพโดยรอบอาคาร โดยผู้สำรวจควรสำรวจและสังเกตสิ่งต่อไปนี้
- สภาพของอาคารข้างเคียงและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
- ความเสียหายของระดับถนนเมื่อเทียบกับโครงสร้างอาคาร
- สภาพของความลาดชันหรือการเกิดรอยแยกของพื้นดินบริเวณรอบอาคาร
- ภัยอื่น ๆ โดยรอบอาคารที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การรั่วไหลของสารเคมีหรือก๊าซ การฉีกขาดของสายไฟ
การประเมินความเสียหายขั้นต้นของตัวอาคารภายนอก โดยตรวจสอบดังนี้
- การยุบตัวของอาคารบางส่วนหรือทั้งหมด
- การเคลื่อนหลุดของฐานราก
- ตัวอาคารหรือชั้นใดชั้นหนึ่งของอาคารเกิดการเอียงตัว
- การทรุดตัวที่เห็นได้ชัดเจนหรือการแตกร้าวของฐานรากอาคาร
- อันตรายจากการร่วงหล่นของชิ้นส่วนอาคาร
- การเคลื่อนตัวหรือรอยแยกของพื้นดินบริเวณใต้อาคารและโดยรอบข้างอาคาร หรือมีความเสียหายของฐานรากอาคาร
2.การสำรวจภายในอาคาร
- ความเสียหายของโครงสร้างพื้น โครงสร้างหลังคา คาน เสา รวมทั้งผนังอิฐก่อ
- รอยแตกร้าวบนผนัง และการเคลื่อนหลุดของฐานรองรับ
- ความเสียหายของส่วนประกอบอาคาร เช่น ฝ้า เพดาน แผ่นกั้นห้อง
- ความเสียหายของระบบอาคาร เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบเครื่องกล ระบบประปา และระบบปรับอากาศ
- ภัยอันตรายอื่น ๆ เช่น ระบบลิฟต์ ภัยจากวัตถุอันตราย ความเสียหายของอุปกรณ์ป้องกันและระงับอัคคีภัย ความเสียหายของบันได บานประตู รวมถึงสิ่งกีดขวางทางเข้า-ออกอาคาร
โดยการเข้าไปสำรวจอาคาร ผู้สำรวจต้องดำเนินงานตามข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยระหว่างการสำรวจความเสียหาย ดังนี้
- ไม่ควรสำรวจใกล้ตัวอาคารหรือส่วนยื่นของอาคารมากเกินไป
- หลีกเลี่ยงพื้นที่มีอันตราย เช่น การรั่วไหลของสารเคมี หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการปิดหรือจำกัดการรั่วไหลก่อนเข้าสำรวจ
- หลีกเลี่ยงบริเวณใกล้เคียงเสาไฟฟ้าที่โค่นล้มลงมา
- อพยพออกจากอาคารทัน หากเกิดเหตุเพลิงไหม้
- ระมัดระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตาม (Aftershock)
- มอบหมายให้มีบุคคลที่อยู่ภายนอกอาคารเพื่อคอยเตือนภัยกรณีที่จำเป็น
- จัดให้มีเส้นทางออกจากอาคารที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง
- ระมัดระวังการสัมผัสสายไฟที่ยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่
- ควรระมัดระวังการสะดุดหากทำการสำรวจบริเวณขอบสูงที่ไม่มีราวกันตก
- จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอระหว่างทำการสำรวจ
- ใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสม
ที่มา คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560