This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันอังคาร, 22 เมษายน 2568 13:08

ความปลอดภัยในงานก่อสร้าง

งานความปลอดภัยฯ เกี่ยวกับงานก่อสร้างต่อเติมอาคารสถานประกอบกิจการ สำหรับองค์กรที่ประกอบการธุรกิจให้บริการต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

         การบริหารงานด้านความปลอดภัยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการดูแลพนักงานทุกคนภายในสถานประกอบกิจการของตนเอง ยังครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา พนักงานรับจ้างช่วงที่เข้ามาปฏิบัติงานภายในองค์กร พนักงานมารับ-ส่งสินค้า และผู้มาติดต่อ รวมถึงชุมชนโดยรอบ ดังนั้น องค์กรที่ประกอบการธุรกิจให้บริการและมีการมอบหมายพนักงานเข้าไปปฏิบัติในพื้นที่ของสถานประกอบการ ควรมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัย   อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองเป็นเบื้องต้น โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานสอดคล้องกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการที่เข้าไปปฏิบัติงาน โดยมีมาตรการปฏิบัติงานที่ถูกต้องและปลอดภัย นำไปสู่การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและทรัพย์สินเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

         เรามักจะพบว่า งานก่อสร้างต่อเติมอาคาร มีอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงานจำนวนมากและความรุนแรงค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับงานให้บริการประเภทอื่น อาจเป็นเพราะความหลากหลายของงานมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายงานค่อนข้างบ่อย ขาดระเบียบ วินัยด้านความปลอดภัยในการทำงาน และมีการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน รวมทั้งพนักงานก็มีทั้งแรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือ อาจมาจากหลากหลายประเทศ หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย แรงงานพม่า แรงงานกัมพูชา แรงงานลาว เป็นต้น ทำให้การสื่อสารอาจไม่ทั่วถึง และเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยได้ หากผู้บริหารโครงการไม่รอบคอบมากพอ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึง  การชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยงที่สอดคล้องกับลักษณะงานก่อสร้างต่อเติมอาคารนั้นๆ การกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฏหมาย กฏระเบียบด้านความปลอดภัยของ สถานประกอบกิจการที่เป็นเจ้าของอาคาร เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายจากการทำงาน ทั้งนี้ ต้องมีการดำเนินงานบริหารด้านความปลอดภัยฯ ที่เป็นระบบ รวมถึงมาตรการป้องกันหรือข้อปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องความปลอดภัย นอกจากสร้างความปลอดภัยในทรัพย์สินและพนักงานของท่านแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่จ้างงานดังกล่าวฯ

ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ต้องประกอบด้วย

(1) นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในการบริหารงานความปลอดภัยฯ

(2) การจัดการองค์กรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนขององค์กร และการมอบหมาย/เตรียมพร้อมบุคคลากรที่มีความรู้ ทักษะในการขับเคลื่อนงานความปลอดภัย 

(3) แผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการนำไปปฏิบัติ เพื่อค้นหา ประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงของงาน กิจกรรม พร้อมกำหนดแนวทางและควบคุมปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย

(4) การประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและปลอดภัย 

(5) การปรับปรุงและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อแก้ไข ปรับปรุงการระบบจัดการให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

         ในหัวข้อแผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการนำไปปฏิบัตินั้น จะมีความแตกต่างในอันตราย และความเสี่ยงในลักษณะงาน กิจกรรมที่ทำ ซึ่งต้องมีความชัดเจนถึงการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยที่เป็นเฉพาะงาน และต้องสอดรับกับมาตรการความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการ โดยเริ่มจากการหารือร่วมกันระหว่างบุคลากรด้านความปลอดภัยทั้งสองหน่วย ในการกำหนดเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงาน และบันทึกที่เกี่ยวข้องในแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าการรายงานการชี้บ่งอันตราย และประเมิน/ควบคุมความเสี่ยง แนวปฏิบัติการขออนุญาตการทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น งานอับอากาศ งานประกายไฟ งานขุดเจาะ งานที่สูง เป็นต้น แนวปฏิบัติงานการควบคุมผู้รับเหมาและผู้รับเหมาช่วง แนวปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร เช่น ปั่นจั่น รถตัก รถขุด กระเช้าไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ องค์กรควรจัดทำข้อควรปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับงานก่อสร้างต่อเติมอาคารเบื้องต้น โดย

  1. จัดอบรมให้ความรู้และทักษะการปฏิบัติงาน รวมทั้งกฏระเบียบความปลอภัยที่เหมาะสมกับงาน และกิจกรรมที่ทำ

  2. พัฒนาศักยภาพความปลอดภัยแก่พนักงานองค์กร ด้วยการสร้างค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัยของพนักงานทุกระดับ (Safety Shared Value by M D C) ประกอบด้วย

•  สติรู้ตัว โดยตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่ว่าการชี้บ่งอันตราย การวิเคราะห์ความเสี่ยงงานในงาน รวมถึงการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย

•  วินัยเข็มงวด โดยปฏิบัติตนตามกฎระเบียบและข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยให้ชัดเจน และอาจกำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนด้วย

•  เอื้ออาทร ใส่ใจ โดยปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย สร้างการมีส่วมร่วมของพนักงาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงานต่อตนเองและเพื่อนร่วมงาน

  1. กำหนดขอบข่ายของพื้นที่ปฏิบัติ เช่น รั้ว/แผ่นกั้นบริเวณปฏิบัติงาน บริเวณที่ใช้เครื่องจักรขนเคลื่อนย้ายวัสดุ บริเวณจัดเก็บวัสดุ/อุปกรณ์และสารเคมี เส้นทางเดิน การจัดแสงสว่าง เป็นต้น 

  2. ดูแลตรวจสอบเครื่องมือก่อนใช้งาน และควบคุมให้มีการใช้งานอย่างถูกต้องกับประเภทงาน และบำรุงรักษาเครื่องมือ พร้อมจัดเก็บไว้ในที่กำหนดไว้ หากเครื่องมือที่มีความคม ควรจัดเก็บในพื้นที่ที่ปลอดภัย หรือกล่องอุปกรณ์ก่อนนำออกมาใช้

  3. ติดป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัย ไม่ว่าป้ายเตือนอันตราย ป้ายห้าม ป้ายข้อควรปฏิบัติในบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากและมีแรงงานจำนวนมาก ต้องสื่อสารให้พนักงาน ทุกคนทราบและถือแนวปฏิบัติเดียวกัน

  4. ดูแลการแต่งตัว ให้ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสวมชุดที่ปกป้องร่างกาย กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว และไม่สวมรองเท้าแตะ ในพื้นที่ปฏิบัติงาน

  5. ดูแลการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่เหมาะสมกับประเภทงาน โดยเฉพาะ หมวกนิรภัยต้องสวมตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งของหรือวัสดุที่อาจตกหล่นลงมาได้

  6. จัดเตรียมอุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉินและเพลิงไหม้ ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือกรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บ กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงข้อปฏิบัติโดยทั่วถึง

  7. จัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมทั้งการฝึกซ้อมเป็นระยะๆ

         ทั้งนี้ องค์กรที่ประกอบการธุรกิจให้บริการก่อสร้างต่อเติมอาคารมีการบริหารงานตามระบบการจัดการความปลอดภัยฯ นอกจากช่วยลดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงาน ประหยัดงบประมาณ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจและภาพลักษณ์ความปลอดภัยของทั้งองค์กรและสถานประกอบกิจการที่จ้างงาน

 

เข้าชม 327 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันอังคาร, 22 เมษายน 2568 13:25

บทความที่ได้รับความนิยม