This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันอังคาร, 10 กันยายน 2562 14:30

การบริหารจัดการความปลอดภัยในงานก่อสร้าง

          งานก่อสร้างเป็นงานที่มีผู้รับเหมาเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่ก่อสร้างยังเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา และมีอันตรายสูงกว่าพื้นที่ที่เป็นโรงงานทั่วไป ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการความปลอดภัยในการก่อสร้าง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนงานก่อสร้างนี้ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างเป็นการปฏิบัติขั้นต่ำที่สุดเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

 

        โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีกฎหมายหลักๆที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ กฎกระทรวงกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ยังมีอีกกฎหมายที่ใช้เป็นประจำคือ กฎกระทรวงกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552 จากกฎกระทรวงฯเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 สามารถแบ่งการบริหารจัดการความปลอดภัยในงานก่อสร้างเป็น การบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง ตั้งแต่การจัดการพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างตามที่กำหนดดังนี้

  • - งานอาคารซึ่งมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังคาเดียวกันเกิน 2000 ตารางเมตร หรือ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 1000 ตารางเมตร

  • - งานสะพานที่มีช่วงความยาวตั้งแต่ 30 เมตร ขึ้นไป หรืองานสะพานข้ามทางแยกหรือทางยกระดับ สะพานกลับรถ หรือทางแยกต่างระดับ

  • - งานขุด ซ่อมแซม หรือรื้อถอนระบบสาธารณูปโภคที่ลึกตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป

  • - งานอุโมงค์หรือทางลอด

  • - งานก่อสร้างอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

          นอกจาการทำแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างแล้วในเขตพื้นที่การก่อสร้างให้ติดหรือตั้งป้ายเตือนและป้ายบังคับต่างๆ ส่วนในเขตอันตรายในเขตการก่อสร้างให้ทำรั้วหรือกั้นเขตและมีป้ายเขตอันตรายแสดงให้เห็นชัดเจน และมีสัญญาณไฟสีส้มตลอดกลางคืน มีการจัดการป้องกันอัคคีภัยในงานก่อสร้าง การจัดการไฟฟ้าในงานก่อสร้าง การจัดการงานก่อสร้างที่มีเสาเข็มและกำแพงพืด การจัดการงานค้ำยันในการก่อสร้าง และส่วนสำคัญอีกประเด็น คือ การจัดการงานเจาะและงานขุดในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งงานขุดดินถือเป็นงานก่อสร้างที่มีอันตราย อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดในงานขุดดินเกิดจากการพังทลายของดิน โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากงานขุดดินกว่า400 คน และบาดเจ็บกว่า 4000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องมีการจัดการที่เหมาะสม นอกจากการบริหารการจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ต้องมีการบริหารจัดการเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้างด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปั้นจั่น รถแทรกเตอร์ รกยก เครื่องตอกเสาเข็ม ฯลฯ ซึ่งต้องมีการตรวจรับรองประจำปี โดยอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของงานวิศวกรรมควบคุม (วิศวกรที่มีใบ กว.) และแบบฟอร์มที่ใช้ในการตรวจ เช่น แบบตรวจเครื่องจักรก่อสร้าง แบบตรวจปั้นจั่น (ปจ.1 ปจ.2) หรือแบบตรวจที่วิศวกรแนะนำ ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรนั้นๆ

          การปฏิบัติงานในที่สูงเป็นส่วนหนึ่งในงานก่อสร้างและเป็นงานที่มีอันตราย จากสถิติอุบัติเหตุด้านความปลอดภัย งานปฏิบัติการอุตสาหกรรมของกองทุนประกันสังคมปี2558 พบว่า การเสียชีวิตจากการตกจากที่สูงนั้นมีจำนวน 109 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กฎหมายที่บังคับใช้ควบคุมการทำงานบนที่สูงยังไม่ได้กำหนดเฉพาะด้านแต่คาดว่าจะออกในเร็วๆนี้ ดังนั้นกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมการปฏิบัติงานในที่สูงจะเป็นไปตาม กฎกระทรวงกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551

อันตรายจากการทำงานบนที่สูงสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ การตกจากที่สูง และการทำสิ่งของตกจากที่สูง มาตรการในการบริหารจัดการสามารถแบ่งได้เป็น

  • - การป้องกันในสถานที่ทำงาน เช่น การปิดช่องเปิดด้วยวัสดุแข็งแรง และมีข้อความระบุ จัดทำราวป้องกันการตก เป็นต้น

  • - การป้องกันที่คนงาน เช่น ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการอบรมเป็นพิเศษ การประเมินความพร้อมด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง(งานที่สูง) และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงที่มีมาตรฐานและเหมาะสม

          งานก่อสร้างรวมถึงการปฏิบัติงานบนที่สูง เป็นงานที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นสาเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆของอุบัติเหตุจากการทำงานในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเริ่มที่การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้รับรู้ถึงอันตรายต่างๆ จากนั้นควรป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การทำงานก่อสร้างรวมถึงการทำงานบนที่สูงได้อย่างปลอดภัยนั้น อย่างน้อยที่สุดควรปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เช่น กฎกระทรวงกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 กฎกระทรวงกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง และเครื่องจักรที่ใช้ในพื้นที่ก่อสร้างนั้น

          นอกจากนี้อาจมีกฎหมายหรือมาตรฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรเลือกใช้อย่างเหมาะสม ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานนั้น ควรจัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ มีการตรวจประเมินสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานก่อนเริ่มปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพร้อมมากที่สุดในการทำงาน และอีกปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมให้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการป้องหรือบรรเทา การบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น และทั้งหมดนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดจากการทำงานก่อสร้างได้ด้วยเช่นกัน

 


  การสัมมนาวิชาการงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 33

-นายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์                                                                                      

-นายชาญวิทย์ เลิศฤทธิ์                                                                                

-นายสุรเชษฐ์ สีงาม                                                                                             

กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่ง ประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

 

 

เข้าชม 31146 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันอังคาร, 10 กันยายน 2562 14:59

บทความที่ได้รับความนิยม