This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 30 กันยายน 2562 09:55

อุบัติเหตุเป็นศูนย์ เรื่องยากที่ ISO 45001 ช่วยท่านได้

       ท่านทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละปี มีคนนับล้านบนโลกใบนี้ต้องเสียชีวิตจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยในระหว่างการทำงาน หากนับเป็นวัน สถิติจาก ILO บอกให้เรารู้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละวัน มีเพื่อนซึ่งเป็นคนทำงานเหมือนกับเราต้องเสียชีวิตถึง 7,700 คนต่อวัน หรือในทุกๆ 15 วินาที ยังไม่รวมการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในระดับอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการหยุดงาน ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว และที่น่าตกใจคือกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ยังส่งผลกระทบต่อองค์กร ทำให้ต้นทุนในการผลิตหรือการให้บริการสูงมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย หากมองลึกๆ จะพบว่ามีหลายครั้งที่อุบัติเหตุมักเกิดในลักษณะซ้ำๆ มีบางคนเคยถามว่า ระบบการจัดการก็ทำแล้ว ใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยก็ได้รับแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถลดอุบัติเหตุได้ ยังคงมีการบาดเจ็บ มีเจ็บป่วย หรือเหตุการณืร้ายแรงยังคงเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน เป็นคำถามที่น่าคิด ถึงเวลาแล้วที่เราควรให้ความสำคัญ“ทำอย่างไร เราจึงสามารถลดอุบัติเหตุ เพื่อลดความสูญเสียอย่างแท้จริง”เป็นคำถามที่หลายท่านสงสัยเช่นกัน

 

       อุบัติเหตุจะสามารถลดลงได้ หากเราทราบธรรมชาติที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ นั่นคือ อะไรคือแหล่งอันตรายที่นำไปสู่การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยของผู้ปฏิบัติงานหากเริ่มต้นจากจุดนี้ก็จะสามารถมองเห็นแนวทางในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างเป็นระบบ  การจัดการตามแนวทางของ ISO 45001:2018 ให้พิจารณาแหล่งอันตรายให้ครอบคลุมทุกกรณีที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้และกำหนดแนวทางในการควบคุมทั้งผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ แม้แต่เทคโนโลยีต่างๆ ที่องค์กรนำมาใช้รวมไปถึงวิธีการทำงาน และปัจจัยดังต่อไปนี้ ก็จะช่วยให้การปิดประตูการเกิดอุบัติเหตุเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  • กิจกรรมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง โดยเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า อุบัติเหตุมักเกิดจากความไม่คุ้นเคย หรือมองอันตรายไม่ครอบคลุม ดังนั้นหากสามารถนำกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในองค์กรมาพิจารณาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่ากิจกรรมนั้นทำโดยผู้ปฏิบัติประเภทใดๆ ทั้งที่เป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานใดๆ ที่องค์กรว่าจ้าง

  • ปัจจัยส่วนบุคคล (human factors) หลายครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ปฏิบัติงานมักถูกมองเน้นไปที่ความประมาท แต่ทราบหรือไม่ว่า หลายครั้งปัจจัยส่วนบุคคลอาจเป็นแหล่งอันตรายสำคัญ ได้แก่ ความชำนาญ ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน บุคลิกลักษณะทางกายภาพ รวมไปถึงโครงสร้างทางร่างกาย ท่าทาง การเคลื่อนไหว เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายในระหว่างการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย

  • “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นแหล่งอันตรายสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด หากมองย้อนไปดีๆ จะเห็นว่า เป็นไปได้ยากที่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของคน ความเปลี่ยนแปลงของระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับองค์ความรู้ ข้อมูล หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนภายในองค์กร สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ หรือความไม่ใส่ใจ

       เมื่อเราทราบแหล่งอันตรายต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่คาดคิด สิ่งสำคัญต่อมาคือ การมองลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อลดผลกระทบจากอันตรายนั้นๆ ผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมไปถึงการกำหนดแนวทางในการจัดการอย่างเป็นระบบอย่างมีมาตรฐาน

 

       ระบบการจัดการ ISO 45001 ยังกำหนดมาตรฐานการจัดการอันตรายบนพื้นฐานของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกๆ อันตราย โดยอันตรายที่มีระดับความเสี่ยงสูง ส่งผลกระทบสำคัญต่อองค์กรได้ ควรมีการพิจารณากำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่มักมองเป้าหมายสำคัญคือ อุบัติเหตุเป็นศูนย์ แต่การจะทำให้อุบัติเหตุเข้าใกล้ศูนย์ได้ ยังมีปัจจัยอีกมากมาย ที่จำเป็นต้องมีแผนการจัดการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม แก้ไขสภาพต่างๆ จากกิจกรรมที่ลดความเสี่ยงจากแหล่งกำเนิด ไม่ว่าจะมาจากคน เครื่องจักร อุปกรณ์ วิธีการ หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ที่มิใช่เพียงแค่การอบรม การสื่อสาร หรือ การประชาสัมพันธ์

 

       อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การจัดการแหล่งอันตรายต่างๆ ผ่านการควบคุมขั้นตอน กระบวนการทำงาน โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้องค์กรสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้ หากนำข้อกำหนดกฎหมายมาประยุกต์เป็นแนวทางในการปฏิบัติ การติดตามตรวจสอบความปลอดภัยฯ อย่างต่อเนื่อง และการประเมินประสิทธิผลที่เกิดขึ้นรวมทั้งการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการทบทวนความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนทำการปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ จะช่วยให้การจัดการมีความต่อเนื่อง ลดแนวโน้มของการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างแท้จริง

 

       อย่าปล่อยให้การทำงานกลับมาทำร้ายร่างกายหรือสุขภาพของเรา สร้างความเชื่อมั่นว่า อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ ความสูญเสียทั้งหลายเป็นสิ่งที่สามารถลดได้ เพียงแค่เริ่มหันมาใส่ใจในความปลอดภัยของเราเองและตระหนักต่อความปลอดภัยของผู้อื่นระหว่างการทำงาน เราทุกคนเป็นเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนในการแก้เกมเพื่อลดความสูญเสียต่อการเกิดอุบัติเหตุได้.

 

บทความโดย : SGS (Thailand) Ltd.

เข้าชม 13801 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 30 กันยายน 2562 14:58