This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 02 ตุลาคม 2562 09:20

สุขภาพดี มีแฮง แรงงาน วัยเก๋า

     จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่าประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มประชากรสูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคที่เรียกว่า “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) ภายในปี 2564 การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของประชากรดังกล่าวส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานไทยจะสูงขึ้น แรงงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป

จะมีจำนวนมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลิตภาพแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานเหล่านี้จะก้าวเข้าสู่การเกษียณในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานกลุ่มนี้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชากรสูงวัยที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านของคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคม

     สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยพบว่าโครงสร้างประชากรของประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลิตภาพการผลิตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีเวลาน้อยในการปรับตัวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้นของผู้ปฏิบัติงานนั้นมีผลต่อความสามารถในการทำงาน (Work Ability) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่

  1. ต้นทุนมนุษย์ ประกอบด้วยสุขภาพและกำลังความสามารถทั้งทางด้านกาย ใจ และสังคม การเรียนรู้และสมรรถนะ คุณค่าและทัศนคติ และแรงจูงใจ
  2. บริบทของงาน ประกอบด้วย อุปสงค์ของงาน (Work demand) หรือความต้องการจ้างงานตามลักษณะของเนื้องาน สภาพองค์กรและการบริหารจัดการ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย

ซึ่งการจะส่งเสริมความสามารถในการทำงานนั้นต้องดำเนินการทั้งในส่วนของบริบทของงานและผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดกิจกรรมหรือมาตรการ เช่น การฝึกอบรมในประเด็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลและการบริหารจัดการแรงงานผู้สูงอายุ หรือกิจกรรมการส่งเสริมการออกกำลังกาย เป็นต้น

ปัจจุบันมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุโดยมีการจัดบริการด้านอาชีวอนามัย ได้แก่

  1. การป้องกันโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานหรือเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน โดยเฉพาะสิ่งคุกคามที่มีความเสี่ยงสูงต่อผู้สูงอายุ

  2. การบริหารจัดการให้ผู้ที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการทำงาน หรือเจ็บป่วยด้วยโรคภายนอกงานสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเหมาะสม (Return to work management)

  3. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามวัยหรือจากวิถีชีวิต เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

  4. การส่งเสริมสุขภาพและการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงาน (Promotion of health and workability)

 

       การตัดสินใจจ้างงานแรงงานสูงวัยนั้นถือเป็นสิทธิของนายจ้างในการที่จะจ้างหรือไม่จ้างแรงงานสูงวัย   ตามเหตุผลและสถานการณ์ของแต่ละบริษัท โดยที่รัฐไม่มีอำนาจในการที่จะเข้าแทรกแซงการตัดสินใจ       ของสถานประกอบกิจการ ดังนั้น บริษัทหรือสถานประกอบกิจการมีความจำเป็นต้องประเมินถึงประโยชน์และ  ต้นทุนการจ้างแรงงานสูงวัยนั้นให้ผลที่คุ้มค่าแก่บริษัทหรือสถานประกอบกิจการมากน้อยเพียงใด  โดยผลประโยชน์และต้นทุนนั้นอาจอยู่ในรูปแบบของตัวเงินหรือที่ไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งต้องมีการประเมินความคุ้มค่าและปัจจัยเฉพาะของแรงงานแต่ละคน ประเภทของอุตสาหกรรม และอาชีพที่แตกต่างกันออกไป

 

สรุปสาระสำคัญ

       ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยนับตั้งแต่ปี 2548 และจากการประมาณการประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 นอกจากนี้ คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 58 ปีเมื่อ 50 ปีก่อน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี ในปี 2557 และเมื่ออายุ 60 ปีแล้ว คนไทยจะมีอายุคาดเฉลี่ยต่อไปอีกประมาณ 22 ปี

       จากสภาพโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและกำลังส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้นี้ประกอบกับผลพวงจากนโยบายคุมกำเนิดที่ได้ผลจากอดีตที่ผ่านมามีผลต่อกำลังคนโดยเฉพาะวัยแรงงานภาคการผลิตทยอยลดลง คาดว่าจะมีผลกระทบต่อกำลังการผลิตและการขาดแคลนแรงงานเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันประชากรไทยมีสุขภาพแข็งแรง  และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ทั้งยังมีสมรรถนะและความต้องการที่จะทำงานต่อ  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะขยายอายุการจ้างงานผู้สูงวัยทำงานต่อ  จะเป็นทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน

       ในด้านการเสริมสร้างการจ้างแรงงานสูงวัยจำเป็นต้องมีการวางแผนทั้งในระดับประเทศ โดยมุ่งประสงค์ในเชิงเศรษฐกิจมหภาค คือ การทำให้ผลผลิตในระดับประเทศยังคงอยู่ในระดับเดิมเป็นการดำรงความสามารถในการผลิตให้กับประเทศ การและสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงวัย ในขณะที่ความจำเป็นของการจ้างแรงงานสูงวัยในระดับจุลภาค คือ การที่แรงงานสูงวัยยังเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ เช่น ประสบการณ์ของแรงงานสูงวัย การถ่ายทอดองค์ความรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของแรงงานสูงวัย      ซึ่งหากมีการขยายอายุการทำงานให้กับแรงงานสูงวัยแล้วย่อมส่งผลที่ดีทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับบริษัท ในขณะที่แรงงานสูงวัยที่ยังมีศักยภาพก็ยังสามารถทำงานและมีรายได้ที่เหมาะสม และไม่เป็นภาระพึ่งพิงแก่ครอบครัว

 

ความเชื่อมโยงสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

       กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุนั้นมีผลต่ออุตสาหกรรมทุกประเภท ซึ่งหากมีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเหล่านี้   ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อองค์กรหรือสถานประกอบกิจการ เนื่องจากแรงงานผู้สูงอายุมีประสบการณ์การทำงาน เรื่องการตัดสินใจและควบคุมอารมณ์ได้ดีหากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกวิธี

       การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสำหรับแรงงานผู้สูงอายุนั้น จำเป็นต้องเริ่มที่ทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน โดยต้องเริ่มสร้างกิจกรรมหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ รวมทั้งการจัดบริการอาชีวอนามัยถือเป็นหัวใจสำคัญ    ในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับงานให้แก่แรงงานผู้สูงอายุ มีการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานในลักษณะเดิมได้

 

แนวทางขับเคลื่อนความปลอดภัยในการทำงาน

       การจ้างแรงงานผู้สูงอายุนั้นนอกจากให้ผู้สูงอายุมีอาชีพแล้วยังส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความสุขคือ           ได้ทำงานที่ตนเองชอบและมีรายได้ของตนเอง  การทำงานของผู้สูงอายุจึงเป็นวิธีการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีรายได้เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารและด้านอื่น ๆ  ซึ่งมีผลทางอ้อมต่อความั่นคงด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพ  ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้แก่แรงงานผู้สูงอายุ

       หัวใจสำคัญในการในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับการทำงานในกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุคือ การจัดบริการอาชีวอนามัย  ทั้งในส่วนของสถานประกอบกิจการและหน่วยบริการปฐมภูมิ  ซึ่งเป็นการให้การดูแลสุขภาพ        ผู้ประกอบอาชีพให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดโรคภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย  เป็นการบริการอาชีวอนามัยทั้งเชิงรุก เช่น การประเมินปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน  การให้อาชีวสุขศึกษา  เป็นต้น  และการบริการอาชีวอนามัยเชิงรับที่เน้นการตรวจคัดกรองตามความเสี่ยงของงานแต่ละประเภท  การปฐมพยาบาล  เป็นต้น

 

ข้อมูลจาก

การสัมมนาวิชาการ งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 32

  1. ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์
  2. พญ.นารา กุลวรรณวิจิตร
  3. พญ.พิชญพร พูนนาค
  4. นายพนัส ไทยล้วน

 

เข้าชม 7062 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพุธ, 02 ตุลาคม 2562 09:50

บทความที่ได้รับความนิยม