This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 03 กันยายน 2563 14:30

ถอดบทเรียนกรณีเกิดอุบัติเหตุคนงานดูดสิ่งปฏิกูลเสียชีวิตในบ่อเกรอะ 3 ราย

      จากกรณีเกิดเหตุคนงานดูดสิ่งปฏิกูลเสียชีวิต เนื่องมาจากสภาวะการขาดอากาศหายใจ ในขณะที่ลงไปทำงานภายใน บ่อเกรอะ ที่สถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งหมด 3 ราย เป็นชายอายุ 36 ปี 16 ปี และ 14 ปี ตามลำดับ

     เหตุการณ์ดังกล่าวฯ สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติงานทั้ง 3 ราย โดยอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดเสียชีวิตจากสภาวะการขาดอากาศหายใจ ซึ่งน่าจะมาจาก ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งเป็นก๊าซไวไฟที่มีความเป็นพิษสูง มีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ ก่อให้เกิดการสะสมรวมตัวกันอยู่บริเวณล่างของถังที่มีอากาศถ่ายเท ไม่สะดวก ทำให้ปริมาณออกซิเจนน้อย เมื่อผู้ปฏิบัติงาน ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวฯ และมีการสูดดมก๊าซ จะทำให้หมดสติ ขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตได้

 
      เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ได้เคยเกิดขึ้นในอดีตมาหลายครั้ง และมักมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 รายในแต่ละครั้ง ที่เกิดเหตุ จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ซึ่งรวบรวมสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่อับอากาศระหว่างปี 2546-2561 จำนวน 62 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 130 ราย หรือเฉลี่ย 2 รายต่อเหตุการณ์ โดยเหตุดังกล่าวมักเกิดจากความผิดพลาด ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการขออนุญาตในการปฏิบัติงานในที่อับอากาศ การเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และผู้ปฏิบัติงาน ในภาวะการทำงานปกติ และเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งขาดการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด

 

แนวทางการป้องกันแก้ไข

ต้องขออนุญาตเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานก่อนลงมือทำงาน พร้อมแจ้งรายชื่อ อายุ  ของผู้ปฏิบัติงาน  วัน เวลา และสถานที่/ตำแหน่ง ที่จะเข้าทำงาน โดยผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของสถานประกอบกิจการ

การปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ผู้อนุญาต ผู้ควบคุม ผู้ช่วยเหลือ และผู้เฝ้าระวังในการทำงานในที่อับอากาศ ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ

ต้องมีการตรวจวัดสภาพบรรยากาศในที่อับอากาศก่อนเริ่มการปฏิบัติงาน เช่น ปริมาณออกซิเจน ปริมาณก๊าซที่ติดไฟได้ (%LEL) และก๊าซพิษอื่น ๆ พร้อมทั้งจัดให้มีการระบายอากาศ หากมีสภาพบรรยากาศที่เป็นอันตราย

จัดทำแผนฉุกเฉิน และจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ในที่อับอากาศ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • กฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562
  • กฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2547
  • ข้อมูลสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่อับอากาศ จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
เข้าชม 8935 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 03 กันยายน 2563 14:55

บทความที่ได้รับความนิยม