ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น
- ยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์ ใช้ในกระบวนการผลิตไม้อัด พาติเกิลบอร์ด เฟอร์นิเจอร์ สารเคลือบ
- เมลามีนฟอร์มัลดีไฮด์ ใช้ในกระบวนการทำถ้วยชาม
- ฟีนอลฟอร์มัลดีไฮด์ ใช้ในกระบวนการผลิตผ้าเบรกรถยนต์ ใบเจีย ใบตัด ทรายทำแบบหล่อโลหะ ฉนวนกันความร้อน
- โพลีอะซีทัล ใช้ในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
- 1,4-บิวเทนไดออล ใช้ในกระบวนการผลิตตัวทำละลาย พลาสติก
การใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในประเทศไทย จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์สูงถึงร้อยละ 70 สำหรับ ฟีนอลฟอร์มัลดีไฮด์ เมลามีนฟอร์มัลดีไฮด์ โพลีอะซีทัล และเคมีภัณฑ์อื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 7, 4, 14 และ 5 ตามลำดับ
สถานประกอบกิจการที่มีการใช้และกักเก็บฟอร์มัลดีไฮด์ จะมีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของฟอร์มัลดีไฮด์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งของการปลดปล่อยฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งมีผลกระทบต่อการได้รับสัมผัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ คือ ภายในสำนักงานที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในกระบวนการผลิต เช่น ตู้ โต๊ะ พรมปูพื้น วอลเปเปอร์ สี และภาชนะบรรจุอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง และการระบายอากาศไม่ดีพอ คนที่ทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าว จะมีโอกาสได้รับฟอร์มัลดีไฮด์เพิ่มขึ้น จากการหายใจ การสัมผัส และการรับประทาน ถึงแม้ว่าร่างกายมีกลไกกำจัดสารละลายฟอร์มัลดีไฮด์แล้วก็ตาม แต่ถ้าร่างกายได้รับสารนี้มากเกินไปหรือได้รับอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้มีผลต่อสุขภาพ องค์กรวิจัยระหว่างประเทศเกี่ยวกับโรคมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer - IARC) จัดให้ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ กลุ่ม 1 (Group 1) มีอันตรายสูง จึงถูกควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมประมง โดยกรมควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เนื่องจากมีคุณสมบัติก่อให้เกิดอันตรายจากการติดไฟ การระเบิด และมีฤทธิ์กัดกร่อน ในส่วนประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2560 ระบุขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ ไม่เกิน 0.75 ppm ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายสำหรับการสัมผัสในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 2 ppm เป็นเวลา 15 นาที
การตรวจวัดความเข้มข้นของฟอร์มัลดีไฮด์ในสำนักงาน
การเก็บและการวิเคราะห์ตัวอย่างสารฟอร์มัลดีไฮด์ในอากาศ อ้างอิงตามวิธีมาตรฐานของ NIOSH Manual of Analytical Methods (NMAM) เก็บตัวอย่างอากาศที่ระดับหายใจ (Breathing zone) โดยใช้หลอดเก็บตัวอย่างอากาศ CARTRIDGE (DNPH-coated silica gel tube) ต่อกับปั๊มดูดอากาศ (Air sampling pump) อัตราการไหลที่ 0.03-1.5 ลิตร/นาที เก็บตัวอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำตัวดูดซับในหลอดตัวอย่างมาสกัดด้วยอะซีโตไนไตรล์ (Acetonitrile) แล้วนำมาวิเคราะห์ต่อด้วยเครื่องโครมาโตกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (High Performance Liquid Chromatography, HPLC) เพื่อหาความเข้มข้นของฟอร์มัลดีไฮด์
อันตรายจากการได้รับสารฟอร์มัลดีไฮด์
- หากได้รับไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์จากการหายใจ จะทำให้แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หลอดลมบวม หายใจไม่ออก ถ้าสูดดมในปริมาณมาก อาจทำให้น้ำท่วมปอด จนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก และเสียชีวิตในที่สุด
- เมื่อสัมผัสฟอร์มัลดีไฮด์จะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน ผื่นแดง หากสัมผัสโดยตรงจะทำให้ผิวหนังไหม้เป็นสีขาว
- หากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มัลดีไฮด์ในปริมาณมาก จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิต
แนวทางป้องกันและลดการได้รับการสัมผัสฟอร์มัลดีไฮด์
- เฝ้าระวังและติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในสำนักงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- เปิดหน้าต่างระบายอากาศออกเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะลดปริมาณความเข้มข้นของฟอร์มัลดีไฮด์ได้
- จัดให้มีระบบระบายอากาศที่เพียงพอ และระบบดูดอากาศเฉพาะที่
- การใช้เทคโนโลยีการล้างสารพิษในอากาศ (Air Detoxify Paint) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของสีทาผนัง โดยใช้หลักการของการดูดซับคาร์บอน และย่อยส่วนที่เหลือให้กลายเป็นไอน้ำบริสุทธิ์
- ปลูกไม้ประดับเพื่อดูดซับฟอร์มัลดีไฮด์ เช่น สาวน้อยปะแป้ง (Dumb cane) หมากเหลือง (Areca palm หรือ Yellow palm) เดหลี (Peace lily) เยอบีร่า (Gerbera daisy) และวาสนา อธิษฐาน (Cornstalk plant) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- มงคล พันธุมโกมล, กฤตพัฒน์ จุ้ยเตย และ ปณตพร บุญเปี่ยมศักดิ์, คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde), พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: กรมโรงงานอุตสาหกรรม, 2553.
- ธนาวุฒิ สุราษฎร์มณี, อันตรายจากฟอร์มาลดีไฮด์ในสำนักงานและที่พักอาศัย, วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ฉบับที่ 2, หน้า 130-136, 2561.
- บังอร ฉางทรัพย์, ฟอร์มาลดีไฮด์/ฟอร์มาลีน ภัยร้ายใกล้ตัว, ว. วิทย. เทคโน. หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, ฉบับที่ 1, หน้า 97-109, 2558.