This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 29 ตุลาคม 2563 14:31

12 พ.ย. วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

        ย้อนกลับไปเมื่อปี 2528 ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 โดยข้อกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้สถานประกอบกิจการ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน  โดยรับผิดชอบงานความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง  รวมถึงการพัฒนางานความปลอดภัยในการทำงาน  จนต่อมาได้เกิดองค์กรภาคีเครือข่ายและชมรมของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต่างๆ ทั่วประเทศ  ซึ่งมีกระบวนการทำงานเป็นการทำงานแบบรวมพลังประชารัฐ ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและพัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงาน  และได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

         ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  โดยการโอนภารกิจบางส่วนจากกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย (ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อกระทรวงในปี พ.ศ. 2545 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า กระทรวงแรงงาน)   ซึ่งในปี 2559 กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  พ.ศ. 2549 กำหนดให้สถานประกอบกิจการจำนวน  14 ประเภทกิจการจะต้องให้มี “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” ในแต่ละระดับตามขนาดและประเภทกิจการ
 

          จป.วิชาชีพ เป็นบุคลากรที่สำคัญในการขับเคลื่อน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการต่าง ๆ มีการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย แนะนำ กำกับดูแล รับผิดชอบให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการได้รับความปลอดภัยในการทำงาน และสำรวจตรวจสอบความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือ  ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสนอให้มีการป้องกัน หรือแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน ตามกฎหมายความปลอดภัยที่ประกาศใช้

ปี 2565 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงกฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2565 (ฉบับปัจจุบัน) << ดาวน์โหลด

 

มีการกำหนดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน 5 ระดับ คือ

(1) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร

(2) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน

(3) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค

(4) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง

(5) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ

 

   หน้าที่ของ จป. วิชาชีพ 13 ข้อ   

หน้าที่ของ จป.วิชาชีพ ตามกฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากรหน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 มีทั้งหมด 13 ข้อ ดังนี้

  1. ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  2. วิเคราะห์งานเพื่อชี้บ่งอันตรายและกำหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง

  3. ประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  4. วิเคราะห์แผนงานหรือโครงการและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆและเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง

  5. ตรวจประเมินการปฏิบัติงานของสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามแผนงานโครงการหรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงน

  6. แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

  7. แนะนำฝึกสอนและอบรมลูกจ้างเพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน

  8. ตรวจวัดและประเมินสภาพแวดล้อมหรือดำเนินการร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  9. เสนอแนะต่อนายจ้างเพื่อให้มีการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

  10. ตรวจสอบหาสาเหตุและวิเคราะห์การประสบอันตรายการเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายจ้างเพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า

  11. รวบรวมสถิติวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตรายการเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างเสนอต่อนายจ้าง

  12. ให้ความรู้และอบรมด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแก่ลูกจ้างก่อนเข้าทำงานและระหว่างทำงาน เพื่อทบทวนความรู้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

  13. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

 

   สถานประกอบกิจการที่ต้องมี จป.   

บัญชี 1

  1. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการทำเหมืองตามกฎหมายว่าด้วยแร่

  2. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

  3. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับปิโตรเคมี

  4. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

  5. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการแยกก๊าซธรรมชาติ

บัญชี 2

  1. อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์

  2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร

  3. อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

  4. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากยาสูบ

  5. อุตสาหกรรมสิ่งทอ

  6. อุตสาหกรรมเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกาย

  7. อุตสาหกรรมเครื่องหนัง

  8. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากไม้

  9. อุตสาหกรรมกระดาษหรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากกระดาษ

  10. อุตสาหกรรมการผลิตสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์

  11. อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์หรือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์

  12. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง

  13. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก

  14. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ

  15. อุตสาหกรรมโลหะหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ

  16. อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

  17. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า

  18. อุตสาหกรรมเครื่องจักรหรือเครื่องมือกล

  19. อุตสาหกรรมยานพาหนะ ชิ้นส่วนยานพาหนะ หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับยานพาหนะ

  20. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์

  21. อุตสาหกรรมเครื่องประดับ

  22. อุตสาหกรรมเครื่องดนตรี

  23. อุตสาหกรรมอุปกรณ์กีฬาออกกำลังกาย

  24. อุตสาหกรรมของเล่น

  25. อุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์

  26. อุตสาหกรรมการผลิต การจัดส่ง หรือการจ่ายไฟฟ้า

  27. อุตสาหกรรมการผลิตหรือการบรรจุก๊าซ

  28. อุตสาหกรรมการผลิตถ่านโค้ก

  29. อุตสาหกรรมการผลิต การเก็บ หรือการจำหน่ายไอน้ำ

  30. อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์หรือการเพาะปลูก

  31. สถานีบริการตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง

  32. คลังน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง

  33. การให้บริการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

  34. อุตสาหกรรมการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่

  35. อุตสาหกรรมการแต่งแร่ การขุดแร่รายย่อย หรือการร่อนแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่

  36. การก่อสร้าง การดัดแปลง การซ่อมแซม หรือการรื้อถอนอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

  37. อุตสาหกรรมการขนส่ง

  38. การบริการการเดินอากาศตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ

  39. กิจการคลังสินค้า กิจการไซโล หรือกิจการห้องเย็นตามกฎหมายว่าด้วยคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น

  40. กิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

  41. การติดตั้ง การซ่อม หรือการซ่อมบำรุงเครื่องจักร

  42. โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

  43. กิจการนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

  44. ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจค้าส่ง

  45. ศูนย์การจัดประชุมและการแสดงสินค้า

  46. โรงพยาบาล

  47. การทดสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติการทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ หรือวิศวกรรม

  48. การขายและการบำรุงรักษายานยนต์หรือการซ่อมยานยนต์

  49. สวนสัตว์หรือสวนสนุก

บัญชี 3

  1. ธุรกิจสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

  2. ธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

  3. สหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

  4. การประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตหรือการประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

  5. โรงรับจำนำตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

  6. โรงถ่ายทำภาพยนต์หรือละคร

  7. สวนพฤกษศาสตร์

  8. สนามกีฬาหรือการนันทนาการ

  9. สถานที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง

  10. สำนักงานบริหารของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2

 

           เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน  เป็นอาชีพที่มีส่วนช่วยป้องกันและลดการประสบอันตรายจากการทำงานซึ่งทำงานภายใต้กฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง  ช่วยให้ลูกจ้างและพนักงานมีความปลอดภัยในการทำงาน    สสปท. ขอเป็นกำลังใจและขอยกย่อง จป.ทุกท่าน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัยในการทำงาน

 

 

เข้าชม 17214 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพุธ, 01 พฤศจิกายน 2566 11:27

บทความที่ได้รับความนิยม