This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 01 มีนาคม 2564 14:49

15 ข้อ ที่ จป.วิชาชีพ ต้องใช้

เพื่อให้เรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้รับความร่วมมือ

จป.วิชาชีพ อยากเห็นทุกคนปลอดภัย

นอกจากการทำให้สถานประกอบการปฏิบัติข้อกฎหมายแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยมาให้ทุกคนทำร่วมกันมากมาย เช่น

  • การชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง (Checklist, JSA, HAZOP, What if ฯลฯ)

  • การรายงานสภาพการณ์ที่อันตราย

  • การรณรงค์อุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ด้วย KYT

  • กิจกรรมข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัย

  • Safety Talk การสนทนาความปลอดภัย

  • การสอบสวนอุบัติเหตุ

  • จัดอบรมความรู้เรื่องความปลอดภัยในหัวข้อต่างๆ

  • จัดกิจกรรม Safety Week / Safety Day

  • การรณรงค์ให้ใช้งานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE)

  • การเดินตรวจความปลอดภัย

เป็นต้น

 

เพราะเรื่องของความปลอดภัยฯ เป็นหน้าที่ของทุกคน

ในแต่ละงานของ จป. วิชาชีพ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกระดับ ทุกส่วนงาน ในองค์กร/สถานประกอบการ

เมื่อ จป. วิชาชีพ ต้องขอความร่วมมือ เรื่องความปลอดภัย...จะทำอย่างไร??  ให้ทุกคนพร้อมทำกิจกรรม/โครงการต่างๆ ไปด้วยกันกับเรา

สิ่งที่ จป.วิชาชีพ ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากได้เจอ เมื่อต้องไปขอความร่วมมือ แต่กลับต้องเจอคำพูด/การกระทำที่ปฏิเสธเราเหล่านี้

  • งานของเรานี่ จป. เราก็ทำไปเองสิ ไม่เกี่ยวกับงานของพวกพี่

  • เรื่องเซฟตี้เหรอ เอาไว้ก่อนก็ได้

  • ยังปรับปรุงไม่ได้หรอก งบยังไม่มี

  • จะมาเปลี่ยนแปลงอะไร แบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว

  • ทำแบบนี้มาตั้งนานไม่เห็นเป็นอะไรเลย ทำไมต้องทำอะไรเพิ่มด้วย

  • คนในแผนกพี่ไม่มีเวลาหรอกแค่งานที่ทำอยู่ก็ล้นมือกันหมดทุกคนแล้ว

    ฯลฯ

คำพูดต่างๆ เหล่านี้ นานทีที่ได้ยินน่าจะพอไหว แต่ในหนึ่งปี มีกิจกรรมเรื่องความปลอดภัยให้ทำมากมาย ได้ยินคำพูด/การกระทำที่ปฏิเสธบ่อยๆ  อาจทำให้ จป.วิชาชีพหลายๆ คน รู้สึกหมดกำลังใจ หมดแรงทำงานเพื่อสร้างความปลอดภัยฯ ได้

 

แบบนี้ต้องมาเติมพลังใจ มาเติมพลังไฟ เพื่อให้ จป.วิชาชีพ มีกำลังใจในการทำสิ่งดีๆ ที่ต้องการให้ทุกคนปลอดภัยกันต่อไป

 

15 ข้อ ที่ จป.วิชาชีพ ต้องใช้!!!

เมื่อต้องการให้เรื่องความปลอดภัยได้รับความร่วมมือ

1. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยร่วมกัน (ดูจังหวะ ดูเวลาความพร้อมของคนที่เราจะพูดคุยด้วยนะ)

2. จัดการความคิดของเราก่อนนะ จป.

  • จป. เชื่อว่า ทุกคนมีสิ่งที่ดีที่จะสามารถมาช่วยให้งานดียิ่งขี้น “I am OK and You are OK” (ฉันก็มีดีในแบบของฉัน เธอก็มีดีในแบบของเธอ เราต่างมีดีที่จะมาส่งเสริมและร่วมกันทำเรื่องความปลอดภัย)

3. เข้าใจความคิด อารมณ์ของตนเอง ควบคุมตนเองได้ (ทำตัวเราให้พร้อมสำหรับการพูดคุย)

  • เมื่อเข้าใจตนเอง เราจะได้สามารถเข้าใจคนอื่น ใช้เหตุผลในการพูดคุยให้มากกว่าใช้อารมณ์ (เข้าใจตนเองและผู้อื่น เราเปิดใจเพื่อทำงาน เราก็จะได้ความร่วมมือ ความเข้าใจและเห็นใจกัน)

4. สร้างความเข้าใจระหว่างกัน  (พื้นฐานของการสร้างสัมพันธ์ภาพ) 

  • เคารพความต่าง เข้าใจว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีประสบการณ์ในชีวิตที่เจอมาต่างกัน ความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่าง จึงมีประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อให้เกิดความหลากหลายของแนวทาง/วิธีการ

5. ให้ใจเราก่อน เพื่อให้ได้ใจจากคนอื่น 

  • จริงใจเพราะต้องการเห็นทุกคนมีความปลอดภัยในการทำงาน

6. สร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแรง

  • สร้างความคุ้นเคยกับคนที่เราคุยด้วย/ส่วนงานที่เราต้องการขอความร่วมมือ

  • สื่อสารให้ตรงกับความเข้าใจ/สไตล์ของคนที่เราคุยด้วย

7. จป.วิชาชีพ ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง มั่นคงจากภายใน พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีสติ คิดรอบคอบ

8. จป.วิชาชีพ เห็นภาพกว้างเรื่องความปลอดภัย

  • เมื่อเห็นภาพชัดก็ต้องสามารถส่งต่อภาพความปลอดภัยที่อยากให้เกิดขึ้นให้กับทุกคนได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ร่วมกันทำให้ภาพความปลอดภัยเกิดขึ้นจริง จากการร่วมมือในการลงมือทำของทุกคน

9. นำเสนอภาพที่อยู่ในสมองเราไปสู่คนอื่น

  • โดยใช้ทักษะการสื่อสาร โน้มน้าวใจ สามารถสร้างภาพในฝันให้ทุกคนจินตนาการตามได้ จนเกิดการตัดสินใจลงมือทำ  (ทุกคน/ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นจุดที่เป็นเป้าหมายปลายทางจุดเดียวกัน “ทุกคนปลอดภัย ทุกคนช่วยกัน”)

10. โน้มน้าว สร้างแรงบันดาลใจ 

  • จป.วิชาชีพ มีอิทธิพลในการนำพาทุกคน (ทำให้ทุกคนเชื่อมั่น ศรัทธา) ไปสู่เป้าหมายปลายทางที่ต้องการมีคำพูดที่ดีและผสมผสานท่วงท่า อารมณ์ ความรู้สึกที่จริงใจลงไปในการสื่อสาร

11. ให้โอกาสสมาชิก/คนที่เราคุยด้วยได้เสนอความคิด

รับฟังคำอธิบายจนจบ ไม่รีบให้ข้อสรุปสิ่งที่ได้ฟัง รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกัน

12. ความร่วมมือในการทำงาน จะเกิดขึ้น เมื่อเขาได้เห็นคุณค่าในตนเอง

  • จป.วิชาชีพ เปลี่ยนจากการใส่แว่นจ้องจับผิด เป็น จับถูก หาข้อดี หาโอกาสชื่นชมสิ่งดีๆ ที่เห็นจากสิ่งที่เขาทำและสิ่งที่อยู่ภายในตัวเขา เพื่อกระตุ้นการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับทุกคน

  • นอกจากนี้ ต้องใช้การถามคำถามในส่วนที่อยากให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนที่เราคุยด้วย ได้คิด เกิดทางเลือกและสามารถเลือกแนวทางที่จะร่วมทำให้เกิดความปลอดภัยได้ด้วยตนเอง

13. อยากให้เขาเริ่มทำ จป.วิชาชีพ ก็แค่ทำเป็นแบบอย่างเพื่อนำพวกเขา

  • ทำต่อเนื่อง ทำนำไปก่อน ทำเป็นแบบอย่าง แล้วชวนเขามาร่วมทำ ทำไปด้วยกัน เพื่อเติบโตไปด้วยกัน

  • ในระหว่างร่วมกันทำ ต้องใส่ใจเรื่องเล็กๆ ของทุกคน ทำตัวเองให้เป็นที่ไว้ใจของทุกคน

  • ทำให้เขาเห็นว่าเรามีความสามารถมากพอที่จะช่วยนำพาพวกเขาได้

14. ประเมินสถานการณ์ตลอดเส้นทางในแต่ละกิจกรรมที่ขอความร่วมมือ

  • รู้ว่าจะมีก้อนหิน ขวากหนาม อุปสรรคตรงไหน อย่างไรบ้าง

  • เตรียมหาวิธีแก้ไข หลบเลี่ยง และเตรียมแนวทางสำหรับป้องกัน

15. คอยมองหาสิ่งที่จะต้องพัฒนา แก้ไข เพื่อให้จุดติดขัดดีขึ้นเสมอ

  • เมื่อต้องแก้ปัญหา (ใช้ทั้งพลังกายและพลังใจ) ด้วยกระบวนการ 3 ระยะ

  • ระยะแรก อธิบายปัญหา รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

  • ระยะสอง มองหาทางเลือกที่จะแก้ปัญหา

  • ระยะสาม ลงมือแก้ปัญหาตามทางเลือกที่ได้เลือกไว้

ความร่วมมือเรื่องความปลอดภัยฯ จะเกิดขึ้นโดย ง่ายเมื่อ จป.วิชาชีพ เชื่อมั่น (ทั้งในความคิดและจากภายในใจ) ว่ามัน ง่ายและ เกิดขึ้นได้ด้วยการลงมือทำ 15  ข้อ ที่ จป.วิชาชีพ ต้องใช้!!! 

เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือเรื่องความปลอดภัยและไปสู่ความปลอดภัยที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับทุกคนในองค์กรจริงๆ

 

บทความโดย

โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา

 

 

เข้าชม 40195 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 01 มีนาคม 2564 15:48