This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 12 กรกฎาคม 2564 19:59

อันตรายร้ายแรงและสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในงานก่อสร้าง

สถิติอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของไทย มากแค่ไหนในแต่ละปี ?

      จากข้อมูลสถิติกองทุนเงินทดแทน พบว่า จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากอุตสาหกรรมก่อสร้างจะอยู่ในลำดับที่หนึ่งมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยจากสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำแนกตามความรุนแรงและประเภทกิจการ ปี 2562 พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยมีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างรวมทุกกรณีตั้งแต่หยุดงานไม่เกิน 3 วัน หยุดงานเกิน 3 วัน สูญเสียอวัยวะ ทุพลภาพ ตาย รวมทั้งหมด 11,599 กรณี คิดเป็น 12% จากอุบัติเหตุทั้งหมด 94,906 กรณี แต่กลับมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง สูงถึง 29% คิดจาก 186 กรณี จากอุบัติเหตุที่ผู้ประสบเหตุเสียชีวิตทั้งหมด 639 กรณี ในขณะที่ข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี ในปี 2552 มีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างรวมทุกกรณี รวมทั้งหมด 15,184 กรณี คิดเป็น 10% จากอุบัติเหตุทั้งหมด 149,436 กรณี แต่กลับมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง สูงถึง 16% คิดจาก 95 กรณี จากอุบัติเหตุที่ผู้ประสบเหตุเสียชีวิตทั้งหมด 597 กรณี

     เมื่อเทียบเคียงกับข้อมูลสถิติ อุบัติเหตุร้ายแรงในอุตสาหกรรมก่อสร้างในสหรัฐอเมริกา รวบรวมโดยองค์กรบริหารความ,ปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (Occupational Safety and Health Administration : OSHA) พบว่ามีรายงานการเสียชีวิตราวหนึ่งในห้าหรือเกือบ 20% มาจากงานก่อสร้าง เช่นเดียวกัน!

ประเภทของงานก่อสร้างที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง !

      จากข้อมูลสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำแนกตามความรุนแรงและประเภทกิจการ ของไทย ปี 2562 พบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตจากงานก่อสร้างทั้งหมด 186 กรณี พบว่ามีสัดส่วนผู้เสียชีวิตในประเภทของงานก่อสร้างบางประเภทมีสัดส่วนค่อนข้างสูงต่อเนื่องมาตลอดในทุก ๆ ปี โดยเรียงลำดับได้ดังนี้

  1. การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย - เสียชีวิต 55 กรณี คิดเป็น 30%
  2. การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย - เสียชีวิต 37 กรณี คิดเป็น 20%
  3. การก่อสร้างถนน สะพาน และอุโมงค์ - เสียชีวิต 34 กรณี คิดเป็น 18%
  4. การก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคเกี่ยวกับสายส่งไฟฟ้ากำลังและสายสัญญาณสื่อสาร - เสียชีวิต 18 กรณี คิดเป็น 10%
  5. การติดตั้งไฟฟ้า - เสียชีวิต 19 กรณี คิดเป็น 10%
  6. งานก่อสร้าง ประเภทอื่นๆ - เสียชีวิต 23 กรณี คิดเป็น 12%

      จากข้อมูลข้างต้น พบว่า การเสียชีวิตเกิดขึ้นในงานก่อสร้างอาคาร (ที่พักอาศัยและไม่ใช่ที่พักอาศัย) สูงถึง 50% ของผู้เสียชีวิตจากการก่อสร้างทั้งหมดในแต่ละปี ตามมาด้วยงานก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (ถนน สะพาน และอุโมงค์ สายส่งไฟฟ้ากำลังและสายสัญญาณสื่อสาร) ที่มีผู้เสียชีวิตถึงเกือบ 30% นอกจากนี้ในส่วนของงานติดตั้งทางไฟฟ้าในงานก่อสร้างยังมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตมากถึง 10% ทีเดียว จะเห็นได้ว่า ประเภทของงาน 5 ลำดับแรกมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 88% เลยทีเดียว

       เมื่อเทียบเคียงกับข้อมูลจากรวมรวมข้อมูลสถิติในสหรัฐอเมริกา โดย OSHA พบว่ากิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตในแต่ละประเภทและลักษณะงาน ได้ดังนี้

  • งานก่อสร้างเฉพาะทาง เช่น ฐานราก โครงสร้าง คอนกรีต - 48%

  • งานวิศวกรรมโยธาและเครื่องจักรกลหนัก (งานสะพาน ถนน สาธารณูปโภค รางระบายน้ำ) - 17%

  • งานก่อสร้างอาคาร บ้าน งานปรับปรุงอาคาร - 16%

  • งานระบบไฟฟ้า ประปา ปรับอากาศและระบายอากาศ - 12%

  • งานตกแต่งอาคาร (ผนังตกแต่งอาคาร สี พื้น) - 7%

     จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า งานก่อสร้างยังเป็นงานที่มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทของงานก่อสร้างที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก มีการใช้เครื่องจักรกลหนักและเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ มีการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งจากการตกจากที่สูง ดินถล่ม ไฟฟ้า รวมทั้งพื้นที่การทำงานที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากงานก่อสร้างจัดเป็นงานที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ ผู้ปฏิบัติงานที่หลากหลาย สภาพของเครื่องมือ/เครื่องมือกลที่ใช้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ผสมผสานทำให้มีความเสี่ยงและโอกาสในการเกิดอันตรายร้ายแรงที่สูง

      โดยในส่วนของมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้างนั้น จะมีกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายหลักที่มีข้อกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานครอบคลุมแทบทุกด้านในงานก่อสร้าง ทั้งการจัดการพื้นที่ก่อสร้าง งานเจาะ งานขุด ค้ำยัน เครื่องจักร ปั้นจั่น ไฟฟ้า ลิฟต์ก่อสร้าง การป้องกันการตกจากที่สูง งานนั่งร้าน งานรื้อถอน เป็นต้น ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.อาคาร 2522 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เทศบัญญัติจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นที่น่ายินดีที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายด้านความปลอดภัยหลายๆ ฉบับที่มีความเข้มข้นมากขึ้น และจะทยอยออกมาจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น กฎกระทรวงก่อสร้างฉบับใหม่ กฎกระทรวงที่สูงและนั่งร้านฉบับใหม่ กฎกระทรวงเครื่องจักรฉบับใหม่ และอีกหลายฉบับ

       ดังนั้น ทางภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างควรต้องให้ความสำคัญทั้งในข้อกฎหมาย มาตรฐานการทำงาน การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง รวมทั้งบุคลากรด้านความปลอดภัย การตรวจสอบสภาพการทำงาน สภาพเครื่องมือ เครื่องจักรกล และมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด เพื่อให้ความเสี่ยงจากอันตรายในงานก่อสร้างที่อาจมีความรุนแรงถึงชีวิต มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จนไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานที่มีความยั่งยืน.

เรียบเรียงโดย

นายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์

  • กรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
  • กรรมการ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ (SHAWPAT)
  • อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)

References:

 

 

เข้าชม 17891 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 12 กรกฎาคม 2564 20:21