This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 02 สิงหาคม 2564 22:13

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับงานผลิตกระเป๋าหนังเทียม

       การทำกระเป๋าหนังเทียมในปัจจุบันพบในชุมชนขนาดเล็กที่รับงานจากผู้จ้างในการผลิตกระเป๋าหนังเทียมตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านดังกล่าวถูกจัดให้เป็นแรงงานนอกระบบ ที่พบได้เป็นจำนวนมากในประเทศไทย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ให้คำนิยามของแรงงานนอกระบบ หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีงานทำแต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน1  จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบว่า มีแรงงานนอกระบบจำนวน 38,403,766 ล้านคน

      จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามลักษณะงานบางอย่างที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านนั้นอาจมีอันตราย โดยบุคคลเหล่านี้ยังขาดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน ทำให้เขาเหล่านั้นอาจได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือโรคจากการประกอบอาชีพโดยที่พวกเขาไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับเขา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขาทั้งอย่างรุนแรงและเรื้อรัง ดังเช่น กลุ่มชุมชนที่รับงานผลิตกระเป๋าหนังเทียม ซึ่งไม่ทราบว่าอะไรคือความเสี่ยงที่พวกเขากำลังเผชิญ และไม่ทราบว่าวิธีการปฏิบัติตนและป้องกันตนเอง กรณีได้รับอุบัติเหตุ หรือโรคจากการประกอบอาชีพดังกล่าว

           

            หนังเทียม (Synthetic Leather) คือวัสดุสังเคราะห์แทนหนังที่เกิดจากการสังเคราะห์ทางเคมีของพลาสติกด้วยกระบวนการโพลีเมอร์ไรเซชั่น (Polymerization) ทำให้ได้พลาสติกที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป เช่น หนัง PU(Polyurethane) หรือ PVC (Polyvinylchloride) โดยเฉพาะหนังเทียม PU ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องใช้ที่หลากหลายชนิด เช่น ผลิตรองเท้า กระเป๋า สมุดไดอารี่ เข็มขัด ซองแว่นตา พวงมาลัยรถยนต์ เครื่องกีฬา และเบาะรถยนต์ ด้วยจุดเด่นด้านความยืดหยุ่น อ่อนนุ่ม คล้ายหนังแท้ ถ่ายเทอากาศได้ดี และแข็งแรงทนกว่าเกรดหนังเทียมทั่วไป

 

การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

ในการทำกระเป๋าหนังมีขั้นตอนการผลิตง่ายๆ  แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน และสามารถประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การตัดแผ่นหนัง อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ การถูกกรรไกรที่มีความแหลมคมทิ่มแทง หรือใบมีดคัทเตอร์บาดมือ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 การทากาวเพื่อประกอบขึ้นรูป อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ การใช้กาวที่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตราย จำพวกทินเนอร์ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถ

สัมผัสได้ทางผิวหนัง และอาจสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง

ขั้นตอนที่ 3 การประกอบแผ่นหนังและเจาะรูเพื่อเย็บขึ้นรูป อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ การนั่งเย็บกระเป๋าด้วยมือหรือจักรอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกหลักการยศาสตร์ นิ้วมือโดยกระแทกขณะใช้ค้อนตอกรูร้อยเชือก หรือถูกเข็มจักรอุตสาหกรรมหักทิ่มแทงตาและมือ

ขั้นตอนที่ 4 การประกอบอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น ซิป กระดุมเปิดปิดกระเป๋า และสายสะพาย เป็นต้น อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ นิ้วมือโดยกระแทกขณะใช้ค้อนตอกกระดุม นิ้วมือโดนทิ่มแทงด้วยเข็มของ
จักรอุตสาหกรรมขณะเย็บซิบกระเป๋า หรือนิ้วมือถูกบาดด้วยกรรไกรตัดด้ายส่วนเกิน เป็นต้น

         นอกจากนี้อันตรายที่พบได้ทั่วไปจากการสังเกต ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานทำงานในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ แสงสว่างไม่เพียงพอ และมีท่าทางการทำงานทั้งในท่านั่งและท่ายืนที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บสะสมของกล้ามเนื้อและโครงสร้างของกระดูก อีกทั้งยังพบว่ามีผู้สูงวัยและเด็กเล็กในพื้นที่ปฏิบัติงานที่อาจได้รับการสัมผัสกับสารเคมีหรือหายใจเอาไอระเหยของสารเคมีเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และการซุกขนของเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ มีการกล่าวว่าพบสารจำพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) จำพวกฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มามายด์ ในหนังเทียมหรือสีเคลือบต่างๆ2 ซึ่งเมื่อได้รับแสงแดดและความร้อนก็จะปล่อยสารพิษเหล่านี้ออกมาและเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนัง ทางปาก และการสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ 

แนวทางป้องกันและควบคุม

  1. ผู้ปฏิบัติงานควรศึกษาคู่มือการใช้งาน ข้อแนะนำ ข้อควรระวัง รวมถึงอันตรายเกี่ยวกับการทำงานก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน เช่น สถานที่ทำงาน เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ความร้อน ความเย็น สารเคมี ฝุ่น เสียงดัง แสงสว่าง และประกายไฟ เป็นต้น

  2. ควรตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในงาน หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบปรับปรุงแก้ไข หรือซ่อมแซมโดยช่วงผู้ชำนาญ หรือหยุดการใช้งานทันที

  3. จัดวางและจัดเก็บอุปกรณ์ในการทำงานให้เป็นระเบียบและเหมาะสม เช่น การจัดวางสายไฟ และสารเคมีแยกจากที่พักอาศัย และติดป้ายเตือนความเป็นอันตราย

  4. สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม เช่น สวมใส่ปลั๊กอุดหูขณะทำงานสัมผัสเสียงดัง ใส่ถุงมือถ้าต้องทำงานกับสารเคมี สวมใส่แว่นตานิรภัยเพื่อป้องกันเศษวัสดุกระเด็นเข้าตา ใส่หน้ากากกรองอากาศเพื่อป้องกันฝุ่นและไอระเหยของสารเคมี

  5. ปรับท่าทางการทำงานให้ถูกต้องเหมาะสม โดยมีการจัดท่านั่ง ท่ายืน ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับร่างกาย เพื่อลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น มีที่พักขาในการยืนทำงาน ใช้เก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง เปลี่ยนท่าทางระหว่างการทำงานที่เคลื่อนไหวซ้ำๆ มีระยะห่างระหว่างแขนกับชิ้นงานหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมไม่ให้เกิดการเอื้อมแขน หรือมีการหยุดพักระหว่างการทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายร่างกาย

  6. ปรับปรุงสถานที่ทำงานให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อเพิ่มการระบายอากาศตามธรรมชาติ และควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการทำงาน

  7. ปรับปรุงสถานที่ทำงานให้มีแสงสว่างเพียงพอ โดยไม่ต้องเพ่งสายตาในการทำงานมากเกินไป แสงสว่างต้องไม่จ้าจนต้องหยีตา หากแสงสว่างในการทำงานไม่เพียงพอ ควรพิจารณาติดตั้งดวงไฟเพิ่มแสงสว่าง เป็นต้น

  8. ควรงดสูบบุหรี่ในสถานทำงานที่มีสารเคมีไวไฟ

  9. ควรตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงหากมีการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยง

  10. ควรออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีประโยชน์ และสะอาด

  11. ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากป้องกัน และล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำสะอาด


เอกสารอ้างอิง

  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2556

  • ภัทรเวท ทรพิมพ์. (2555). VOCs: มหันตภัยเงียบจากเบาะหนังในรถยนต์. ยานยนต์สาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 96 มีนาคม 2555. หน้า 7 - 10. เข้าถึงได้จาก http://www.thaiauto.or.th/contentimages/ajn/y11/jn_nopdf เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564

 

เข้าชม 3326 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 02 สิงหาคม 2564 22:49