This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันอังคาร, 05 กรกฎาคม 2565 11:33

ค่านิยมหลักด้านความปลอดภัยร่วมกัน (Safety Shared Values)

แนวคิดการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย

           อุบัติเหตุจากการทำงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานจะมีแนวโน้มลดลง  แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นยังคงพบเป็นข่าวรายวันและเป็นอุบัติเหตุจากการทำงานที่มีความรุนแรงจนทำให้ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ยังคงทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมไปถึงการเฝ้าระวังและให้ความสำคัญในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุมีมากน้อยเพียงไร หากจะพิจารณาถึงสาเหตุหลักๆ คงต้องแบ่งออกดังนี้

  • เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่ใช้ประกอบการทำงานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความซับซ้อนการทำงานมากขึ้น หากผู้ใช้งานขาดการศึกษาและฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้งาน ก็นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้

  • ผู้ปฏิบัติงานไม่ตระหนักถึงอันตราย ใช้ความเคยชินในการปฏิบัติงาน ขาดจิตสำนึกด้านความปลอดภัย

แนวทางการดำเนินงานสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย
ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

          วัฒนธรรมด้านความปลอดภัย (Safety Culture) เป็นการมองถึงพฤติกรรมของคนในสังคมที่แสดงถึงลักษณะและทัศนคติเกี่ยวกับความปลอดภัยที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ ยึดถือและปฏิบัติตามกันมา ความเชื่อ และความรู้สึก  จนเป็นแนวปฏิบัติและวัฒนธรรมความปลอดภัยเดียวกัน หากต้องการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ โดยบุคลากรทุกระดับต้องร่วมกันสร้างและขับเคลื่อนความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปปรับใช้กับงานต่าง ๆ ได้ โดยเริ่มที่การสร้างค่านิยมของแต่ละบุคคล

          ในปี 2565  สสปท ได้วางแนวทางการสร้างสรรค์วัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ด้วยการสร้างค่านิยมหลักด้านความปลอดภัยร่วมกัน (Safety Shared Values)  โดยพิจารณาหลักในการเข้าใจง่าย และปฏิบัติได้  ด้วย MDC

MDC : ค่านิยมหลักด้านความปลอดภัยร่วมกัน (Safety Shared Values)

 

1.สติรู้ตัว (Mindfulness)

       ตามพระราชดำรัสของในหลวงในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552 พระองค์ได้ทรงประกาศเป็นค่านิยมหลักของคนไทย (ค่านิยมหลักที่ 9 ใน 12 ค่านิยมหลัก) และ นโยบายของ คสช. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการมีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ปฏิบัติตนอย่างมีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำคือทำงานด้วยอย่างรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม เช่น มีสติ รู้ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ สติในการทำงานจะช่วยให้เรามีความมั่นใจว่ามีความพร้อมทั้งกายและใจที่จะทำงาน (Fit for Duty) มีความตระหนัก ประเมินและควบคุมอันตรายก่อนเริ่มงาน รู้ตัว สังเกตสภาวะและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน สามารถแก้ไขและตอบสนองต่อสภาวะและเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยได้ทันเวลา พฤติกรรมบ่งชี้ที่คาดหวังของค่านิยม “สติรู้ตัว” เช่น 1) เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เตรียมความพร้อมของตัวเอง อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงาน ระเบียบวิธีปฏิบัติงาน 2) ประชุมทำความเข้าใจในงานที่จะทำ สอบถามหัวหน้างานถ้าไม่เข้าใจ หยุดคิด ตรวจสอบประเมินอันตรายและให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ  ก่อนเริ่มลงมือทำ  และ 3) เมื่อพบว่ามีความไม่ปลอดภัยในงานที่ทำอยู่  ให้หยุดและแจ้งหัวหน้างาน และสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานทราบ

 

 

2.วินัยถูกต้อง (Discipline)

        ยึดหลักการทำงานที่ถูกต้อง ด้วยวิธีการและอุปกรณ์ที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้การทำงานมีความปลอดภัย โดยยึดถือและปฏิบัติตามหลักการทำงานที่ถูกต้อง  ด้วยวิธีการที่ถูกต้องในทุก ๆ งาน ทุก ๆ ขั้นตอน และทุก ๆ เวลา  โดยการปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย สวมใส่และใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่กำหนด  ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การทำงานที่ถูกต้องและมีสภาพที่ปลอดภัย

 

3.เอื้ออาทรใส่ใจ (Caring)

        ยึดหลักการปฏิบัติต่อคนงาน เพื่อนร่วมงาน และผู้ปฏิบัติงานเสมือนคนในครอบครัว มีความเมตตาและดูแลผู้ปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย ดำรงไว้ซึ่งสุขภาพอนามัยที่ดีและมีความสุขในการทำงาน มีการแสดงออกถึงความเอื้ออาทร ความเป็นห่วงเป็นใยใส่ใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือ ตักเตือน เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน  คำนึงถึงและช่วยให้มีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของตนเอง เพื่อนร่วมงานและบุคคลรอบข้าง 

        การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ควรเริ่มต้นที่บุคลากรทุกระดับ  โดยนำค่านิยมหลักด้านความปลอดภัยทั้ง 3 ด้าน มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตประจำวัน จนเคยชินและต่อเนื่อง  จนเกิดค่านิยมร่วมกัน อันนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์กรที่ยั่งยื่นต่อไป

 

เข้าชม 5607 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:21