This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 25 ตุลาคม 2566 13:32

SAFETY in Mind

ยุ่งยากจัง...ทำไมต้องมีขั้นตอนเยอะแยะ กว่าจะทำงานได้สักงาน ต้องเตรียมเอกสาร อบรม ทำบัตร พอเข้ามาทำงานแล้วก็ยังต้องมาประเมินความเสี่ยงก่อนเริ่มงานอีก เสียเวลา! PPE ก็น่าอึดอัด บังคับให้ใส่จัง! อยู่ข้างนอกทำแบบนี้ไหม?

        เมื่อพูดถึง Safety คุณกำลังคิดแบบนี้อยู่หรือเปล่า? แต่ไม่ว่าคุณจะคิดแบบไหน ความคิดจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในทุกการกระทำของเราเสมอ ลองขอ Safety ดูสถิติอุบัติเหตุในโรงงานของเราสิว่า ในปีปีหนึ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกี่ครั้ง? โดยเฉพาะอุบัติเหตุขั้นบันทึก (Medical treatment) หรือดูตั้งแต่ขั้นปฐมพยาบาลเลย (First Aid) และลองเทียบสถิติความปลอดภัยนี้สัก 5-10 ปี ย้อนหลัง เพื่อดูพัฒนาการด้านความปลอดภัยของโรงงานเราว่า มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น หรือลดลง เพราะในตัวเลขนั้นมีการสูญเสียของใครบางคนอยู่ มันคือการบาดเจ็บของเพื่อนร่วมงาน หรือผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานให้เรา ซึ่งคุณอาจจะรู้สึกว่าเลขนี้มันห่างไกล เพราะไม่ใช่คนใกล้ตัวของเรา แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ปกป้องคนทำงานรวมถึงตัวเราให้ปลอดภัย เชื่อเลยว่าถ้าใครมีคนในครอบครัวที่เคยได้ประสบอุบัติเหตุ ได้รับการบาดเจ็บ ต้องพาไปรักษาพยาบาลต่าง ๆ นานา จะเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า ไม่มีใครที่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น

คุณเชื่อไหม...ว่าอุบัติเหตุป้องกันได้ ?

ระหว่างที่อ่านคำถามนี้ ให้คุณลองตอบในใจดูว่าในที่ทำงานของเรา เราเชื่อไหมว่าเราจะสามารถช่วยกันป้องกันอุบัติเหตุได้?

คำตอบของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

        จำได้ไหมคะว่า ไม่ว่าคุณจะคิดแบบไหน คำตอบของคุณนั่นแหละที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ในทุกการกระทำของเราเสมอ ถ้าคุณตอบว่าไม่เชื่อ อย่างไรอุบัติเหตุก็ต้องเกิดขึ้นไม่กับใครคนใดก็คนหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นก่อนเริ่มงาน ลองถามตนเอง ถามเพื่อนร่วมงานและผู้รับเหมาดูว่าในวันนี้ สัปดาห์นี้ เดือนนี้ หรือปีนี้ ใครจะเป็นคนบาดเจ็บรายต่อไปให้ยกมือขึ้น! เพราะอย่างไรก็ต้องมีคนบาดเจ็บอยู่แล้ว เลือกมาเลยว่าใครจะเป็นรายต่อไป ดูสิว่าใครจะอยากบาดเจ็บหรือเปล่า?

        แล้วคุณก็กลับไปทำงานเหมือนเดิม แล้วอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นตามอย่างที่คุณคิดเอาไว้ไม่ผิด เพราะคุณคิดอยู่แล้วว่าอย่างไรมันก็เกิด ถ้าคุณคิดว่ามันต้องเกิด คุณจะไม่หาทางป้องกันมันเลย อย่างเช่น อุบัติเหตุที่ผ่านมาคุณก็ไม่ได้ไปหาสาเหตุที่แท้จริงว่ามันเกิดจากอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำ แต่คุณจะคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ! การบาดเจ็บหนะหรือเป็นเรื่องปกติ แล้วเหตุใดตอนที่ให้ยกมือถึงไม่มีใครอยากยกมือขึ้นเลยหละ ?

        แต่ถ้าคุณเชื่อ ว่าอุบัติเหตุป้องกันได้ คุณจะทำทุกทางเพื่อป้องกันไม่ให้มีคนได้รับบาดเจ็บเกิดขึ้น คุณจะเริ่มหาวิธีการที่ปลอดภัย คุณจะเริ่มหาสาเหตุที่แท้จริงว่าที่ผ่านมาการบาดเจ็บนั้นเกิดได้อย่างไร แล้วเราจะมีมาตรการอะไรเพื่อป้องกัน อาทิเช่น การพูดคุยกันก่อนเริ่มงาน (Effective Toolbox Talks) ว่าวันนี้อันตรายจากการทำงานมีอะไรบ้าง เราจะป้องกันอย่างไร คุณจะทำตามขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงที่ทำไว้ทุกอย่างโดยไม่มีการลัดขั้นตอน คุณจะสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันให้ครบ เพราะในเมื่อไม่มีใครยกมือว่าจะอยากเป็นผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บรายต่อไป มันก็เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันป้องกัน เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนเลือกได้ ว่าเราจะป้องกันหรือจะยอมรับการสูญเสีย? และแน่นอนว่าคุณจะฝากความหวังกับเรื่องเหล่านี้ไว้ให้กับ Safety (จป.) เพียงไม่กี่คนในโรงงานไม่ได้ เขาไม่สามารถไปควบคุมกำกับดูแลทุกคนได้ และเขาก็ไม่ใช่ตำรวจ ถ้าหากโรงงานไหนที่ยังมองว่า Safety เป็นตำรวจตามจับผู้ร้ายอยู่ คือ เราจะไม่ทำตามกฎระเบียบถ้า safety ไม่อยู่ นั่นก็สะท้อนว่าวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กรของพวกเราทุกคนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอนถ้าเรายังต้องรอให้คนคนหนึ่งมากำกับดูแลทุกอย่าง แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อช่วยกันหาวิธีป้องกันดี ? ต้องถามกลับไปว่าเวลาที่เราเข้ามาทำงาน เราเชื่อฟังใครมากที่สุด ใครที่คุณยอมทำตามคำสั่งเขาทุกอย่าง ก็คนคนนั้นแหละที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลงานให้ปลอดภัย

        หากบุคคลนั้นไม่ทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแล้วจะมีคนฟังหรือทำตามกฎระเบียบขององค์กรหรือ? อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ คือ ในโรงงานของพวกเราทุกคนจะมีคณะกรรมการ ที่มีตัวแทนจากฝั่งนายจ้าง ผู้บริหาร และตัวแทนลูกจ้าง นั่นคือคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่กฎหมายกำหนดให้มีการแต่งตั้ง และจัดประชุม และรวมถึงการเดินตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่โรงงานเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าคุณไม่รู้จักให้ไปสอบถามกับ safety ในโรงงานได้ เพราะนี่คือกลุ่มสำคัญที่จะร่วมเสนอแนะความคิดเห็นในการปรับปรุงพัฒนางาน ยกระดับ ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยในองค์กรให้ดีขึ้นได้ จากการมีส่วนร่วมของตัวแทนทั้ง 3 ระดับ หากเราเข้าประชุมเพื่อไปฟัง Safety รายงานอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการแสดงความคิดเห็น หรือ feedback เรื่องหน้างานใด ๆ เลย ก็ต้องบอกว่าเราได้ทำให้เวลาสำคัญนั้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะคณะกรรมการกลุ่มนี้มีผู้ร่วมตัดสินใจได้ครบทุกฝั่งจากตัวแทนทั้ง 3 ระดับ ซึ่งคุณเองก็สามารถเสนอแนะผ่านตัวแทนฝั่งลูกจ้างเพื่อนำเรื่องไปเข้าประชุมได้ หากเห็นว่ามีสิ่งใดที่เราอยากจะปรับปรุงพัฒนาด้านความปลอดภัยให้ดีขึ้นเพราะเราทุกคนมีส่วนร่วมในความปลอดภัย เลข 0 อาจจะดูไม่มีค่าในเชิงผลกำไร แต่มีค่ามหาศาลกับการที่ไม่ต้องมีใครได้รับบาดเจ็บ หากเราทุกคนเชื่อว่าอุบัติเหตุป้องกันได้ คำกล่าวที่ว่า “อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์” ก็คงจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมนัก

 

บทความโดย : อมรรัตน์  เนียมบุญนำ Safety Engineer  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

 

 

 

เข้าชม 4277 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:20

บทความที่ได้รับความนิยม