This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 05 ตุลาคม 2566 09:42

MDC ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย :  สู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน (EP.1)

  ทำไมต้องมีวัฒนธรรมความปลอดภัย  

วัฒนธรรมความปลอดภัยเป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการนั้น ๆ มีพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ดี         

        กุญแจสำคัญในการสร้างและส่งเสริมงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติงานทุกคน บุคลากรทุกระดับ ในสถานประกอบกิจการจะต้องมี ความร่วมมือในการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย ภายใต้การบริหารจัดการ ที่เหมาะสม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งสถานประกอบกิจการ จนเกิดเป็นรูปแบบ ค่านิยม และวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการนั้น

          การเสริมสร้างความปลอดภัยจะยั่งยืนได้ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องใส่ใจต่อการทำงานที่ได้รับมอบหมาย  โดยไม่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทุกคนควรต้องช่วยดูแล รวมทั้งคอยให้คำแนะนำ กำกับ ดูแลกันและกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืน

          การขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัยจะสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากตนเองและร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานทุกคนในสถานประกอบกิจการ ในการปฏิบัติตน และปฏิบัติงาน ด้วยความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นพฤติกรรมความปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การก่อให้เกิดค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัยของทุกคนภายในองค์กร โดยสถานประกอบกิจการเองต้องมีการบริหารงานตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการที่ยอมรับเป็นเบื้องต้น และมีการจัดการความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งต้องมีความพร้อมทางทรัพยากรที่จะสนับสนุนและดำเนินงานด้านความปลอดภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

 

  แนวคิดการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย  

          วัฒนธรรมความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ ต้องเริ่มจากพฤติกรรมความปลอดภัยของบุคคล และมีจุดยืนในแนวทางการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ จนเปลี่ยนเป็นค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัยที่มีความชัดเจน ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเป้าประสงค์ และการยอมรับของบุคลากรทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการทำงาน รวมทั้งต้องสอดรับกับวิสัยทัศน์ในการบริหารธุรกิจ และการบริหารด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการลดการประสบอันตราย อุบัติเหตุจากการทำงาน  โดยมีแนวทาง ดังนี้

  ขั้นที่  1    การพิจารณาวิสัยทัศน์ พันธกิจของสถานประกอบกิจการ เพื่อนำมากำหนดค่านิยมร่วม และขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ อันจะนำไปสู่เป้าหมายวัฒนธรรมความปลอดภัยเชิงป้องกัน  

  ขั้นที่  2    การเลือกและประยุกต์ใช้ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย ที่เหมาะสมกับการดำเนินงาน โดยเริ่มจากการเสริมสร้างค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C   โดย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ศึกษารายละเอียดได้จากนิตยสารความปลอดภัยฯ สสปท.  T-OSH: OSHE Magazine ฉบับที่ 21)

  ขั้นที่  3    การจัดกิจกรรมและติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องมีการสื่อสาร ข้อมูล ข่าวสาร การดำเนินงาน ผลการปฏิบัติ ให้บุคลากรในสถานประกอบกิจการได้รับทราบ เพื่อร่วมทบทวน รวมทั้งปรับแผนดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่คาดหวังไว้ 

  ขั้นที่  4    สถานประกอบกิจการ ควรจัดให้มีการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัย เชิงค่านิยมที่เป็นระบบให้กับบุคลากรทุกคนรู้และเข้าใจ  และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ รวมถึงให้มีการติดตามประเมินผลกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยขององค์กร  

          อนึ่ง ผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินการด้านความปลอดภัย ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานต้องให้ความร่วมมือกับผู้บังคับบัญชาทุกระดับ รวมทั้งเพื่อนร่วมงานในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและพัฒนาตนเองเพื่อการปฏิบัติงานที่ถูกต้องและปลอดภัยจนเกิดเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม

 

  การขับเคลื่อนด้วยค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C  

การเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการนั้น ๆ มีพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ดี จนเป็นค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C

การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยการทำงานด้วยการขับเคลื่อนค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย      M D C ต้องเริ่มจากด้วยการสร้างในระดับบุคคล สู่เพื่อนร่วมงาน สู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จนเกิดเป็นค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัยระดับสถานประกอบกิจการ  และขยายไปสู่สถานประกอบกิจการด้วยกัน จนเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ โดยรวม

การสร้างค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย มีหลากหลายแนวทาง สามารถพิจารณาค่านิยมที่เหมาะสมและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการของตนเองซึ่ง สสปท. ได้ทำการศึกษาและผ่านการคัดกรองค่านิยมแต่ละรายการจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ค่านิยม M D C (Mindfulness สติรู้ตัว / Discipline วินัยถูกต้อง / Caring เอื้ออาทรใส่ใจ) เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่มีความเหมาะสมกับสถานประกอบกิจการทุกประเภท  อีกทั้งเป็นค่านิยมที่หลาย ๆ สถานประกอบกิจการนำไปสร้างค่านิยมด้านความปลอดภัย จนประสบผลสำเร็จต่อการมีวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

(หมายเหตุ สามารถศึกษารายละเอียดค่านิยมร่วมความปลอดภัย M D C ฉบับสมบูรณ์ได้จากนิตยสารความปลอดภัยฯ สสปท.  (T-OSH: OSHE Magazine ฉบับที่ 21)

 

  ประโยชน์จากการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน  

 การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ภายในสถานประกอบกิจการ ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน ดังนี้

  • ช่วยลดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยจากการทำงาน

  • ช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายจากการไม่หยุดงาน ไม่สูญเสีย ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และสร้างความคุ้มค่าในการลงทุน

  • เพิ่มศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานทุกคนต่องานความปลอดภัย ที่ทราบจุดอันตราย บริหารความเสี่ยง กำหนดแนวทางการป้องกันอันตราย และมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  • สร้างการมีส่วนร่วมและการทำงานเป็นทีมของบุคลากร จากความร่วมมือกันของพนักงานทุกระดับ และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน

  • สร้างความรับผิดชอบต่อสังคม จากการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานประกอบกิจการ ครอบครัวพนักงาน ชุมชน และผลิตภัณฑ์

  • สร้างผลผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าภายใต้การจัดการความปลอดภัยอย่างเป็นระบบจากการที่ผู้ปฏิบัติงานทำงานด้วยความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย

 

บทความโดย

นายพฤทธ์ฤทธิ์ เลิศลีลากิจจา

รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (วิชาการ)

 

เข้าชม 1945 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 04 ธันวาคม 2566 09:42