This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 04 ธันวาคม 2566 09:34

MDC ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย : สู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน (EP.2)

           วัฒนธรรมความปลอดภัยเป็นสิ่งที่แสดงถึงพฤติกรรมและทัศนคติด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการนั้น ๆ ซึ่งกุญแจสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย คือความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรทุกระดับ และผู้บริหาร โดยมีระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม ในรูปแบบค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัยและวัฒนธรรมความปลอดภัยที่มีความชัดเจน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันคือ การลดการประสบอันตราย อุบัติเหตุ เจ็บป่วยจากการทำงาน

           สสปท. จึงมุ่งเน้น ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C (Mindfulness สติรู้ตัว / Discipline วินัยถูกต้อง / Caring เอื้ออาทรใส่ใจ) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืน

ค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C ดำเนินการอย่างไร

           การพิจารณาใช้ค่านิยม M D C (Mindfulness สติรู้ตัว / Discipline วินัยถูกต้อง / Caring เอื้ออาทรใส่ใจ) เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยนั้น สถานประกอบกิจการต้องทบทวนการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงานของตนเองว่ามีความสอดคล้องกับค่านิยม M D C  โดยพิจารณาค่านิยมแต่ละตัวว่าอยู่ในระดับใด และจัดลำดับความสำคัญที่เหมาะสมกับนโยบายขององค์กร วางแผนงาน โครงการ และจัดกิจกรรมขับเคลื่อนค่านิยมนั้น ๆ

           การพิจารณาว่าจะเริ่มดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างค่านิยมใดก่อนหลัง สถานประกอบกิจการอาจจะนำผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในปัจจุบันมาพิจารณาว่ามีการดำเนินการที่สอดคลัองกับค่านิยมทั้งสามค่านิยมแล้วหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และผลสัมฤทธิ์ระดับไหน เพื่อชั่งน้ำหนักว่าจะสร้างเสริมค่านิยมใด โดยเลือกค่านิยมที่มีน้ำหนักความสำคัญมาก มาดำเนินการก่อนตามความเหมาะสม

           ตัวอย่างเช่น เมื่อนำผลการดำเนินด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการมาพิจารณาตามค่านิยมทั้งสามค่านิยมแล้วพบว่า ค่านิยม D วินัยถูกต้อง โดยสถานประกอบกิจการมีกฎระเบียบ และข้อบังคับด้านความปลอดภัยไม่ครบทุกกระบวนงานหลัก ขาดการกำกับ ดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อบังคับด้านความปลอดภัย และ ผู้ปฏิบัติงานในหลายหน่วยงานยังไม่มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับด้านความปลอดภัย เมื่อทำการพิจารณาให้น้ำหนักแล้ว ค่านิยม D วินัยถูกต้องเป็นค่านิยมที่มีความสำคัญที่ควรพิจารณาเลือกมาดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างค่านิยมเป็นลำดับแรก ต่อจากนั้นค่อยพิจารณากำหนดกิจกรรมในการเสริมสร้างค่านิยม M สติรู้ตัว หรือ ค่านิยม C เอื้ออาทรใส่ใจ ในลำดับต่อไป ซึ่งการเลือกดำเนินการสร้างค่านิยมว่าจะเลือกสร้างค่านิยมใดก่อนหลังขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา และความเหมาะสมของแต่ละสถานประกอบกิจการ   

 

  ใครคือผู้ขับเคลื่อนค่านิยมร่วม M D C  

การขับเคลื่อนค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีผู้ขับเคลื่อนในการเสริมสร้างเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

      • ผู้บริหาร ต้องเป็นผู้นำและเป็นต้นแบบในการแสดงความมุ่งมั่น สนับสนุนการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในสถานประกอบกิจการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ปฏิบัติงานในการนำไปปฏิบัติ

      • ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ต้องมีความมั่นใจในค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย M D C (Mindfulness สติรู้ตัว / Discipline วินัยถูกต้อง / Caring เอื้ออาทรใส่ใจ) ในการสร้างเสริมความปลอดภัยในการทำงานตลอดเวลา อย่างยั่งยืน โดยนำไปร่วมกันปฏิบัติเชิงพฤติกรรมความปลอดภัย

      • ทุกภาคส่วนในสถานประกอบกิจการ ร่วมกันขับเคลื่อนค่านิยม M D C ให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง จนมีการแสดงออกที่เป็นค่านิยมร่วมในการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ที่มุ่งสู่เป้าหมายในการลดอุบัติเหตุ การประสบอันตรายและการเจ็บป่วยอย่างยั่งยืน

ค่านิยม M: Mindfulness สติรู้ตัว

ทำไมต้องมีค่านิยม M สติรู้ตัว

สติ คือ อาการที่จิตนึกถึงสิ่งที่จะทำ

สติ คือ การไม่หลงลืม ตื่นตัวอยู่เสมอ และความรู้สึกรับผิดชอบ

         การมีสติรู้ตัว ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีใจจดจ่อหรือใส่ใจต่อการทำงานทั้งทางกายและจิตใจ มีความรับผิดชอบและตื่นตัวอยู่เสมอขณะทำงาน และผู้ปฏิบัติงานสามารถคาดการณ์บ่งชี้ถึงอันตรายและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของงาน ขณะเดียวกันรับทราบและปฏิบัติงานนั้นด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้สภาพการทำงานมีความปลอดภัยต่อคนรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนสถานประกอบกิจการ

         การมีสติรู้ตัว เมื่อฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ตาดู หูฟัง และจิตจดจ่อในการทำงาน ภายใต้แนวทางปฏิบัติงานที่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน และเมื่อทำจนเคยชิน จะทำให้เกิดค่านิยมความปลอดภัยและวัฒนธรรมความปลอดภัยในที่สุด ทั้งนี้ ต้องฝึกปฏิบัติสร้างสติรู้ตัว อาจต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนดังกล่าวเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อฝึกฝนถึงระดับหนึ่งก็จะทำงานได้ด้วยการมีสติรู้ตัวด้านความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานที่ถาวร

 

  ปัจจัยต่อการสร้างค่านิยม M สติรู้ตัว  

         ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานมีค่านิยม M สติรู้ตัว สถานประกอบกิจการนั้นต้องมีผู้บริหารที่เป็นผู้นำและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน มีการกำหนดนโยบาย เป้าหมายด้านความปลอดภัยในการทำงานที่ชัดเจน และให้การสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายและแผนงานต่างๆ และเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย

         ผู้ปฏิบัติงานต้องศึกษางานและประเมินความเสี่ยงของงาน หากพบว่างานที่ทำนั้นๆ ขาดมาตรการควบคุมป้องกันอันตรายทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมงานที่เพียงพอเหมาะสม และเห็นว่างานนั้นมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูง ควรใช้สิทธิแจ้งหัวหน้างานหรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อปฏิเสธงานนั้น จนกว่าความเสี่ยงนั้นจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยเสียก่อน จึงจะปฏิบัติงานนั้นต่อไป

 

  เริ่มอย่างไร  

         การสร้างค่านิยม M สติรู้ตัว ต้องเริ่มที่การสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนในองค์กรอย่างน้อยประกอบด้วย การบ่งชี้อันตรายและประเมินความเสี่ยงในการทำงาน  การกำหนดมาตรการควบคุมความเสี่ยง มาตรการป้องกันอันตรายที่เหมาะสม การวิเคราะห์งานในแต่ละขั้นตอนของการทำงานเพื่อให้ทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อประเมินความเสี่ยง การกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันอันตรายที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อลดและ/หรือควบคุมระดับความเสี่ยงนั้นๆ โดยผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับความรู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานและฝึกปฏิบัติจนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยคำนึงถึงความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งมีคู่มือและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว จะได้เตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อการปฏิบัติงาน ควบคู่กับการมีสติรู้ตัวในการปฏิบัติงานตามคู่มือและแนวปฏิบัติต่างๆ มีสติจดจ่อกับการทำงานตลอดเวลาทั้งทางกายและจิตใจ ตลอดจนคำนึงถึงความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงานด้วย

 

เข้าชม 4277 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันจันทร์, 04 ธันวาคม 2566 10:39

บทความที่ได้รับความนิยม