This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 14 กันยายน 2565 09:01

สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้ยั่งยืนด้วยนโยบาย Safety Thailand

         วงการอุตสาหกรรมของประเทศไทยในทุกวันนี้ มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงน่าเป็นกังวลคงหนีไม่พ้นการบาดเจ็บหรือการประสบอันตรายของแรงงานที่เกิดขึ้นจากการทำงาน นั่นเอง

         หากมองย้อนไปถึงการเกิดอุบัติเหตุในหลาย ๆ ครั้ง อาจมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุในการก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การประสบอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่หนึ่งในสาเหตุที่เราพบได้บ่อยที่สุด คงหนีไม่พ้นสาเหตุที่เกิดมาจากการกระทำของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและเสริมสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนในชาติให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เช่น การสร้างความรับรู้จากสื่อต่าง ๆ การจัดกิจกรรม Zero Accident  การสร้างเครือข่ายประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย Safety Thailand เครือข่ายของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ (จป.) หรือเครือข่ายที่ให้การบริการด้านความปลอดภัย เป็นต้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือการลดอัตราการประสบอันตรายและลดอัตราการเสียชีวิต

         และเพื่อให้สอดรับกับนโยบาย Safety Thailand ของกระทรวงแรงงานนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงมีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญในการคุ้มครองและพัฒนาสิทธิประโยชน์ รวมถึงการจัดเก็บเงินสมทบและบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกจ้างและผู้ประกันตน ทั้งยังมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพแรงงาน เพื่อดูแลลูกจ้างที่บาดเจ็บหรือทุพพลภาพให้สามารถฟื้นฟูทางด้านจิตใจและสามารถกลับไปทำงานได้ดังเดิม โดยขับเคลื่อนผ่านทางกลไก 3H ได้แก่

  1. Helping  

คือการดูแลคุ้มครองลูกจ้าง เร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนโดยเร็ว พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ร้องทุกข์

  2. Health  

คือการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพดี ปรับปรุงการตรวจสุขภาพให้ครอบคลุมมากขึ้น

  3. Harmless  

คือการส่งเสริมความปลอดภัยและลดการประสบอันตรายที่เกี่ยวเนื่องมาจากการทำงาน หรือไม่เกี่ยวเนื่องมาจากการทำงาน รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน การจัดอบรมให้ความรู้ และการจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน

         อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) คงไม่อาจขับเคลื่อนไปได้ หากขาดการร่วมมือจากนายจ้างและลูกจ้าง เพราะเรื่องความปลอดภัยไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย และหัวใจหลักที่จะทำให้เกิดการลดการประสบอันตรายได้นั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งการจะก้าวไปถึงจุดนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากนายจ้างและลูกจ้างในการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ให้ความปลอดภัยถือเป็นเรื่องหลัก และเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น นอกจากนี้นายจ้างเองอาจมีการจัดกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ รวมถึงการให้รางวัล คำชมเชย แก่พนักงานหรือลูกจ้างที่ตระหนักและมีจิตสำนึกที่ดีในเรื่องความปลอดภัย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่พนักงานคนอื่น ๆ อีกด้วย

         ถึงแม้ว่าการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้นั้น อาจไม่สามารถที่จะสร้างได้ภายในหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี แต่หากทุกคนมีจิตสำนึกและตระหนักได้ว่า ทำงานอย่างไรจึงจะปลอดภัย และทำให้บ่อยจนเกิดเป็นวิถีในการทำงานที่ปลอดภัยได้นั้น เชื่อว่าความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนคงอยู่ไม่ไกลแน่นอน

 

 

เข้าชม 4524 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:21

บทความที่ได้รับความนิยม