This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 19 กันยายน 2565 13:25

Safety Mindset กรอบคิดด้านความปลอดภัย

ชาย 2 คนทำงานในพื้นที่ก่อสร้าง

ชายคนที่ 1 สวมหมวกเซฟตี้ สวมรองเท้าเซฟตี้ สวมเสื้อสะท้อนแสง 

ชายคนที่ 2 แทบจะแก้ผ้าทำงาน 

โดยบริษัทก่อสร้างแห่งนี้ ไม่ได้มีกฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด

ชาย 2 คน ทำงานในที่เดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน แต่ทำไมพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานจึงแตกต่างกัน

ทั้งหมดเกิดจากการที่ทั้งสองคนมี กรอบคิด” (Mindset) ที่แตกต่างกัน

  Mindset คือ อะไร  

          ศ.ดร.แครอล เอส ดเว็ค นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของกรอบคิด (Mindset) และ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า  กรอบคิด (Mindset) คือ การรับรู้ส่วนตัว หรือ ทฤษฎีส่วนบุคคล ซึ่งคน ๆ นั้นได้ยึดถือไว้ และ เชื่อว่าตนเองเป็นคนที่มีความฉลาด หรือ ไม่ฉลาด พัฒนาได้ หรือ พัฒนาไม่ได้ โดยแบ่งกรอบคิดของมนุษย์ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.  คนที่มีกรอบคิดที่พัฒนาไม่ได้ (Fixed Mindset)

2.  คนที่มีกรอบคิดที่คิดที่พัฒนาได้ (Growth Mindset) 

คนที่มีกรอบคิดที่พัฒนาไม่ได้

         เขามีความเชื่อว่า สติปัญญาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หลีกเลี่ยงความท้าทาย ปกป้องตนเอง ยอมแพ้ง่าย มองว่าพยายามไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา ไม่รับฟังคำวิจารณ์ ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ หรือ สำเร็จน้อยกว่าศักยภาพที่ตนเองมี

คนที่มีกรอบคิดที่พัฒนาได้

         เขามีความเชื่อว่า สติปัญญาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อ้าแขนรับความท้าทาย ไม่กลัวความล้มเหลว เชื่อว่าความพยายามคือเส้นทางสู่ความเชี่ยวชาญ เรียนรู้คำวิจารณ์ เพื่อทำตัวให้ดีขึ้น มองหาบทเรียน และแรงบันดาลใจจากคนที่สำเร็จ คนเหล่านี้มักจะประสบความสำเร็จตามเป็นศักยภาพเต็ม ๆ ของตนเองที่มี

  คำที่คุ้นเคย  

เรามักจะได้ยินเป็นประจำกับคำว่า 

“อุบัติเหตุเป็นเรื่องของเวรกรรม ป้องกันไม่ได้หรอก” 

“ความปลอดภัย คือ ค่าใช้จ่าย เสียเวลา น่ารำคาญ ไร้ประโยชน์”

“ความปลอดภัยเป็นเรื่องของ จป.วิชาชีพ หรือ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยฯ”

คนที่พูดประโยคเหล่านี้ เราพอจะอนุมานได้ว่า เขาคือคนที่มีกรอบคิดที่พัฒนาไม่ได้ ในเรื่องความปลอดภัย 

แต่คนที่เขามีกรอบคิดที่พัฒนาได้ เขาจะพูดอีกอย่างว่า 

“อุบัติเหตุ และ โรคจากการทำงาน สามารถป้องกันได้”

“ความปลอดภัย คือ ส่วนผสมหลักของธุรกิจ อย่าเข้าใจผิดว่า คือ ค่าใช้จ่าย” 

“ความปลอดภัยไม่ใช่เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนทุกระดับ” 

       พอจะเห็นความแตกต่างไหมครับว่า คนที่มีกรอบคิดแตกต่างกัน ย่อมมีมุมมองต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ที่แน่ๆชีวิตของทั้งสองคนแตกต่างกันแน่นอน โดยเฉพาะ “ความสุข” และความสุขนี่แหละ ที่เป็นรากฐานสำคัญ ที่นำไปสู่ความสำเร็จของชีวิต  แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้คนเรามีกรอบคิดที่แตกต่างกัน ในบทความนี้ขอพูดเกี่ยวกับกรอบคิดในเรื่องความปลอดภัยนะครับ โดยแบ่งออกเป็น

  ความเคยชิน  

เคยทำงานแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ก็ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ จึงเชื่อว่าไม่ต้องไปหาวิธีการใหม่ ๆ มาทำ โดยเจ้าตัวเองไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น คือ ความเสี่ยง แต่เพราะโชคดีที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่ในอนาคตมีโอกาสเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะความเคยชิน จนกลายเป็นการทำงานที่ขาดสติ และนำไปสู่ความประมาท

สิ่งที่เราไม่เห็น ไม่ได้หมายความว่า มันไม่มี สิ่งที่มันไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด 

  ขาดการอบรม  

เคยมีการศึกษาพบว่า องค์กรใดก็ตาม ที่พนักงานได้รับการอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ มักจะไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุ

ส่วนองค์กรใดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ก็มักเกิดจากการที่พนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัย เพราะว่าไม่ได้รับการฝึกอบรม 

การฝึกอบรมด้านความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ละเลยไม่ได้เลย หากเขาไม่รู้ เราก็ต้องให้เขารู้  อยากให้เขาเกิดความปลอดภัยก็ต้องเทรนนิ่ง ไม่ใช่ทนนิ่ง

  ขาดประสบการณ์  

คนที่ทำงานใหม่ ๆ มักจะเกิดอุบัติเหตุง่าย เนื่องจากขาดประสบการณ์หน้างาน และไม่ทราบเกี่ยวกับอันตรายที่แอบแฝงอยู่ซึ่งนอกเหนือจากตำราเรียน หรือ การฝึกอบรม และ ไม่ทันสังเกตเห็นแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด 

  สภาพแวดล้อมเดิม ๆ  

อยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่เต็มไปด้วยคนที่มีกรอบคิดที่พัฒนาไม่ได้ สิ่งนี้สามารถส่งผ่านกันได้ จากคนที่มีกรอบคิดที่พัฒนาได้คนหนึ่ง กลายเป็นคนที่มีกรอบคิดที่พัฒนาไม่ได้ ตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ เราอยู่ใกล้สิ่งใด เราก็มักจะเป็นสิ่งนั้น “สิ่งแวดล้อมหล่อหลอมพฤติกรรม”

  ความอ่อนเพลีย ไม่มีแรง  

เมื่อไรก็ตามที่เราอ่อนเพลีย ไม่มีแรง สภาพนี้จะส่งผลต่อความคิด ไม่อยากจะรับรู้อะไร ไม่อยากจะทำอะไรเพิ่มเติม คล้าย ๆ สภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) โดยสาเหตุ อาจจะเกิดจากความเครียด จากการทำงานที่ภายใต้แรงกดดัน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม หรือ การพักผ่อนไม่เพียงพอ 

สิ่งนี้ย่อมนำไปสู่การละเลย เรื่องของขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัย และนำไปสู่อุบัติเหตุ

การจัดการเรื่องของการยศาสตร์ และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการบริหารจิตใจของพนักงาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่น่าเสียดายหลายองค์กรกลับละเลย หรือไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น 

  วิธีการสร้าง Safety Mindset  

ถ้าในทางธรรมก็เปรียบเสมือนการมี สัมมาทิฐิ คือ การมีแนวคิดที่ถูกต้อง มีสติ  เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องนั่นเอง 

หากติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง กระดุมเม็ดถัดๆมาก็มีโอกาสที่จะถูกต้องเช่นเดียวกัน 

แต่ถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด ที่เหลือก็ผิดหมด ดังนั้นการมีแนวคิดที่ถูกต้องหรือ  มีสัมมาทิฐิ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ การให้ความรู้ และข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวคิดที่ถูกต้อง

ถ้าเราเชื่อว่า “อุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน สามารถป้องกันได้” นั่นหมายความว่า เรามีกรอบคิดด้านความปลอดภัยที่ถูกต้อง แบบนี้ไปต่อ และสามารถพัฒนาเรื่องความปลอดภัยอื่น ๆ ได้ 

แต่ถ้าเราเชื่อว่า “อุบัติเหตุเป็นเรื่องของเวรกรรม ป้องกันไม่ได้หรอก” แบบนี้ก็ยากที่จะพัฒนาความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ

วิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างกรอบคิดด้านความปลอดภัยที่ดี คือ   จงเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนที่มีกรอบคิดด้านความปลอดภัยที่ดี    หรือ เลือกคบบัณฑิต ไม่คบคนพาล ตามหลักธรรมมงคล 38 

แต่ถ้าเราไม่สามารถเลือกสภาพแวดล้อมที่ดีได้ตามที่เราต้องการล่ะ

ห้องหากว่ามันแคบ ถอยออกมาหน่อย มันก็กว้าง” 

เราสามารถหาทางเลือกใหม่ ๆ ได้ โดยการหาหนังสือความปลอดภัยดี ๆ มาอ่าน หรือ หาพอดแคสต์ความปลอดภัยฯดีๆมาฟัง หรือ ติดตามช่องทางข่าวสาร บทความความปลอดภัยฯต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย 

เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ และแรงบันดาลใจที่ดี หรือ เอาตัวเองไปเข้าสัมมนาในการพัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ ก็จะช่วยทำให้เรามีกรอบคิดด้านความปลอดภัยที่ดีได้ครับ

เมื่อโลกภายในเปลี่ยน โลกภายนอกก็เปลี่ยนตาม หากอยากจะเปลี่ยนคนอื่น ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ ชอบที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่น โดยไม่รู้เลยว่าเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นไปไม่ได้ หากเราไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเลย 

ให้เริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน   พัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางาน”  

ขอให้ทุกท่านมีกรอบคิดด้านความปลอดภัยที่พัฒนาได้ครับ

 

บทความโดย

ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย
The Safety Coach
ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย BBS
โค้ช วิทยากร ที่ปรึกษา และ นักเขียน

 

เข้าชม 9225 ครั้ง แก้ไขล่าสุด วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566 14:21